ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเตือนเรื่องการยืนขาข้างเดียวเพื่อวินิจฉัยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วัน 1 ตุลาคม 2021 เวลา 05:23
- อัพเดตแล้ว วัน 1 ตุลาคม 2021 เวลา 05:41
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564
คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “ถ้าใครมีเส้นเลือดในสมองเริ่มตีบแล้ว จะไม่สามารถยืนด้วยขาข้างเดียวถึง 20 วินาที”
“ซึ่งน่าจะจริง เพราะ ได้ไปทำ MRI ที่สมองแล้ว แพทย์พบว่า มีเส้นเลือดในสมองตีบ และ ได้มาพบคลิบนี้ ลองยืนขาเดียว ปรากฏว่า ยืนได้เพียง 3 วินาทีเท่านั้น ขอเชิญแต่ละท่านทดสอบว่า เส้นเลือดในสมองของท่านยังปกติ ดีหรือไม่”
โพสต์ดังกล่าวแชร์ลิงค์ของคลิปวิดีโอยูทูปที่ถูกเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งมีชื่อว่า “ทดสอบตัวเอง โรคเส้นเลือดตีบในสมอง” ซึ่งมียอดรับชมแล้วกว่า 380,000 ครั้ง
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของประเทศสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่าโรคหลอดเลือดในสมองตีบเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตก ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อลิ่มเลือดหรืออนุภาคอื่นๆ อุดตันเส้นเลือดในสมอง
คลิปวิดีโอดังกล่าวแสดงภาพของผู้หญิงคนหนึ่งยืนขาเดียว พร้อมนำเสนอว่าบุคคลที่ไม่สามารถยืนขาเดียวเป็นเวลานานกว่า 20 วินาที อาจจะเป็นสัญญาณความเสี่ยงของเส้นเลือดในสมอง
คลิปวิดีโอยูทูปดังกล่าว ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันในโพสต์ทางเฟซบุ๊กที่นี่และนี่
ผู้ใช้เฟซบุ๊กบางคน เชื่อคำแนะนำที่ถูกแชร์ในโพสต์ดังกล่าว
“แม้สุขภาพดี มาทำครั้งแรกน่าจะไม่ง่ายนะ แต่ถ้าทำเท่าไรไม่ได้สักที ค่อยไปตรวจดีไหม”
“ยืนได้นานมากๆคะ เพราะออกกำลังกายตลอดและคุมน้ำหนัก คุมการกิน ”
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด
การค้นหาด้วยคำสำคัญ พบบทความที่ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2557 ของสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาที่มีชื่อว่า “ความสามารถในการยืนทรงตัวด้วยขาข้างเดียวอาจสะท้อนถึงสุขภาพสมองและความเสี่ยงเส้นเลือดในสมองแตก”
เนื้อหาในงานวิจัยดังกล่าวเสนอว่าถ้าบุคคลที่ไม่สามารถยืนด้วยขาข้างเดียวเป็นเวลา 20 วินาทีหรือนานกว่า อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงเส้นเลือดฝอยในสมอง รวมไปถึงความสามารถในการคิดและเข้าใจที่ลดลง
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกล่าวว่าการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองด้วยการยืนขาข้างเดียว ไม่เป็นวิธีที่น่าเชื่อถือ
“ไม่ถูกต้อง”
นายแพทย์ชลภิวัฒน์ ตรีพงษ์ นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันประสาทวิทยากล่าวว่า การยืนด้วยขาข้างเดียว “ไม่ได้เป็นวิธีที่ใช้วินิจฉัยปัญหาสมอง” และ “ไม่ใช่วิธีที่แพทย์ใช้วินิจฉัย”
“การยืนด้วยขาข้างเดียวไม่ได้ อาจจะบ่งบอกถึงความผิดปกติของข้อหรือเส้นประสาทของบุคคลนั้นก็ได้” เขากล่าว
“การใช้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมาทดสอบโรค อาจจะมีความเสี่ยงสูงที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้”
อาการที่ชัดเจนที่สุดในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง ประกอบไปด้วย การพูดลำบาก โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell's Palsy) หรืออาการปากตกหรือเบี้ยว และแขนขาเหนื่อยล้าอ่อนแรง เขากล่าว
“ถ้ามีความผิิดปกติตามอาการสามอัน ควรไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที”
แพทย์หญิงทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา กล่าวเช่นกันว่าการยืนขาข้างเดียวไม่ใช่วิธีวินิจฉัยโรคหลอดเลือดในสมองตีบที่น่าเชื่อถือ
“การยืนขาข้างเดียวไม่ใช่วิธีวินิจฉัยโรคเส้นเลือดในสมองในปัจจุบัน” เธออธิบายกับ AFP “การวินิจฉัยไม่ได้ใช้แค่สิ่งเดียว แต่ต้องใช้การซักประวัติของแพทย์ การเอ็กซเรย์สมองหรือ MRI ที่มีความน่าเชื่อถือกว่า”
คำแนะนำของ CDC เกี่ยวกับสัญญาณเตือนเรื่องโรคหลอดเลือดสมอง มีอาการชาที่ใบหน้า แขน หรือขาอย่างกะทันหัน
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา