ตรวจสอบข้อเท็จจริง : วิธีการทำงาน
นอกเหนือจากทักษะวารสารศาสตร์พื้นฐาน เรายังใช้เครื่องมือขั้นพื้นฐานในการตรวจสอบข้อมูลออนไลน์ ซึ่งรวมไปถึงการใช้สามัญสำนึกและความระมัดระวังในขั้นตอนการตรวจสอบ
เราตั้งใจที่จะอธิบายขั้นตอนที่เราใช้ตลอดกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเราเพื่อให้เกิดความเข้าใจ
เราจะเริ่มจากการตั้งคำถามที่ชัดเจน เราต้องการตรวจสอบและรายงานเนื้อหาที่น่าสงสัย หรือการกล่าวอ้างที่มีพิรุธ ทั้งที่ปรากฏและไม่ปรากฏในรายงานของเรา
กองบรรณาธิการของเราจะพยายามติดต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นปฐมภูมิในการเขียนรายงานหรือหักล้างคำกล่าวอ้าง นอกจากนี้ในกรณีที่จำเป็น เรายังทำการตรวจสอบภายในระบบข่าวและการตรวจสอบระหว่างนักข่าวของเราเองด้วย
ในกระบวนการตรวจสอบ เราจะแสวงหาข้อมูลสาธารณะที่เป็นกลางและสามารถเชื่อมโยงเข้ากับช่องทางออนไลน์
การค้นหาแหล่งที่มา
ข้อมูลเท็จจำนวนมาก เกิดจากการนำภาพเก่ามาตีความใหม่ซึ่งผิดไปจากบริบทเดิม
การค้นหาภาพย้อนหลังเป็นการเริ่มต้นที่ดี วิธีการคือให้นำรูปภาพใส่ลงไปในเครื่องมือค้นหาเพื่อตรวจสอบว่าภาพดังกล่าวเคยได้ถูกนำมาใช้ที่ไหนมาก่อนหรือไม่
การคลิกขวาที่รูปภาพในเบราว์เซอร์อย่างกูเกิลโครม จะมีตัวเลือกในการค้นหาภาพในกูเกิ้ล เครื่องมือค้นหาจะประมวลผลว่าในระบบนั้นว่ามีภาพถ่ายที่คล้ายหรือว่าใกล้เคียงกับภาพที่เราค้นหาไปหรือไม่
เราแนะนำให้ติดตั้งส่วนต่อขยาย Invid/We Verify (ข้างล่าง) ซึ่งจะเพิ่มตัวเลือกเมื่อคลิกขวาเพื่อค้นหาภาพจากเครื่องมือค้นหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Google Bing (ของไมโครซอฟท์) Yandex TinEye และ Baidu
การค้นหาภาพย้อนหลัง อาจจะไม่แสดงผลตรงตามที่เราต้องการเสมอไป เพราะภาพที่ถูกตรวจสอบอาจจะไม่เคยปรากฏในอินเตอร์เน็ต หรือไม่ได้ถูกนำเข้าระบบ ในบางครั้งเครื่องมือค้นหาภาพย้อนหลังอาจจะทำให้เราสับสนกับภาพที่มีการพลิกกลับด้าน เช่นเรื่องนี้ซึ่งเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีแคนาดา จัสติน ทรูโด
เราจึงต้องสังเกตเบาะแสในรูปภาพด้วย (เช่น ป้ายร้าน ป้ายถนน สถาปัตยกรรม ต้นไม้ แผ่นป้ายทะเบียนรถ) เพื่อที่จะสรุปสถานที่และเวลาที่แน่ชัดของรูปภาพ
ในการตรวจสอบวิดีโอที่ถ่ายในเกาะครีต เรายืนยันพิกัดด้วย Google Maps โดยสังเกตแนวโค้งของชายหาดให้ตรงกับรูปภาพ

หลายครั้งที่ภาพถ่ายถูกนำมาใช้เพื่อเป็นหลักฐานของการคำกล่าวอ้างในโพสต์ออนไลน์ เราจึงต้องตรวจสอบความเชื่อมโยงของภาพกับข้อมูลอย่างวันที่ภาพถูกถ่ายหรือสภาพอากาศในวันนั้นด้วย
เมื่อต้องรับมือกับภาพต้องสงสัย เราจะพยายามหาไฟล์ต้นฉบับเพื่อสรุปว่าภาพถูกดัดแปลงหรือไม่
ค้นหาที่มาของแถลงการณ์หรือข้อกล่าวอ้าง
การคัดลอกและวางข้อความลงในเครื่องมือค้นหามักจะช่วยยืนยันได้ว่าข้อความนั้นมีการเผยแพร่มาก่อนในช่องทางออนไลน์หรือไม่
คำพูดของนักการเมืองมักถูกเว็บไซต์ล้อเลียนนำไปใช้ การคัดลอกและวางข้อความลงไปในเครื่องมือค้นหาจะสามารถโยงกลับไปยังแหล่งที่มาได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที
หากมีการอ้างว่าใครพูดอะไร เราจะค้นหาแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ (วิดีโอ การบันทึกเสียง หรือแถลงการณ์) รวมถึงการตรวจสอบบัญชีออนไลน์เพื่อยืนยันเพิ่มเติม เราจะพยายามติดต่อตัวบุคคลโดยตรงเพื่อพิสูจน์คำพูดที่ถูกนำไปกล่าวอ้าง
ในกรณีที่เราต้องตรวจสอบข้อมูลเชิงปริมาณ (เช่นงานวิจัย) เราต้องดูที่การศึกษาต้นฉบับและวิธีการประมวลผล
การตรวจสอบวิดีโอ
เราใช้เครื่องมือ Invid/We Verify ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของ Chrome ที่ AFP ร่วมพัฒนา เครื่องมือนี้สามารถช่วยเราในการสร้างไฟล์ภาพขนาดย่อ (thumbnail) จากคลิปวิดีโอได้ (ด้วยแทป Keyframes) ซึ่งภาพ thumbail ที่ได้จะสามารถใช้ค้นหารูปภาพที่ใกล้เคียงได้อีกด้วย

เครื่องมือนี้ยังสามารถช่วยจับภาพที่ถูกดัดแปลงโดยการพลิกด้านได้ด้วย โดยในส่วนต่อขยายสามารถพลิกภาพกลับด้านได้ (ไปที่ Magnifier → ใส่ภาพลงไป → more filters → Flip → Apply)
การ Cross-Check ข้อมูล
เมื่อรูปภาพหรือข้อมูลที่ได้รับการเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ตดูไม่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะเมื่อไม่ได้มีการอ้างอิงแหล่งที่มา การตอบสนองแรกของเราคือการเข้าไปอ่านและตรวจสอบความคิดเห็นในโพสต์ ข้อมูลจากการแสดงความคิดเห็นอาจจะช่วยตั้งคำถามเรื่องข้อเท็จจริงในโพสต์หรือเบาะแสอื่นๆ ได้
หากมีการอ้างอิงถึงบุคคลหรือว่าองค์กร เราจะติดต่อไปเพื่อให้บุคคลหรือว่าองค์กรที่ถูกกล่าวอ้างในโพสต์เพื่อขอคำชี้แจงได้
หากมีคำถามถึงการเผยแพร่รูปภาพหรือว่าวิดีโอ เราจะหารูปภาพจากเหตุการณ์เดียวกันเพื่อเปรียบเทียบ เราจะพยายามติดต่อไปยังเจ้าของภาพ และอ้างอิงถึงแหล่งที่มารวมถึงสถานที่และเวลาในกรณีที่สามารถทำได้
ติดต่อแหล่งที่มาที่ถูกต้อง
มีหลายครั้งที่เราต้องตรวจสอบหัวข้อที่เราไม่ถนัด ในกรณีแบบนี้เราจะร่วมมือกับนักข่าวของ AFP ที่มีความเชียวชาญเฉพาะทางใน หัวข้อ ภูมิภาค หรือภาษา ทีมตรวจข่าวของ AFP เราทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดทั่วโลก
ไม่ใช่แค่อินเตอร์เน็ต
สำหรับการทำงานในการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั่วไป เราจะใช้อินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์ แต่เครื่องมือเหล่านี้ไม่เพียงพอเสมอไป บางครั้งการตรวจสอบต้องใช้การลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อเท็จจริง
ในเดือนกรกฎาคมปี พ.ศ. 2561 เราได้ขอความช่วยเหลือจากนักข่าว AFP ในประเทศคูเวต ให้ช่วยตรวจตรวจสอบคลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่เป็นวงกว้าง โดยการรายงานข่าวจำนวนมากอธิบายว่าภาพที่ปรากฏในคลิปวิดีโอเป็นเหตุการณ์ที่ชายชาวซาอุดิอาระเบียบุกทำร้ายพนักงานต้อนรับที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน
แต่การตรวจสอบเบื้องต้นจากช่องทางออนไลน์ของเราพบว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่คลินิกสัตวแพทย์ที่กรุงคูเวตซิตี ประเทศคูเวต
นักข่าวของเราได้เดินทางไปยังคลินิกสัตวแพทย์ที่เรายืนยันมาจากหลักฐานในอินเตอร์เน็ต จนสุดท้ายก็สามารถยืนยันได้ว่าเป็นสถานที่เดียวกันจริง ๆ รวมทั้งได้คำให้การของแพทย์ที่ถูกทำร้ายในคลิปวิดีโอมาเป็นหลักฐานด้วย นี่คือรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว
บรรณาธิการอาวุโสจะตรวจสอบรายงานแต่ละะชิ้นก่อนการเผยแพร่ออนไลน์
เราใช้เครื่องมือจัดเก็บถาวรเช่น Wayback Machine หรือ Perma CC เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มจำนวนคลิกให้กับเว็บที่เผยแพร่ข่าวปลอม และเพื่อเก็บบันทึกไว้เป็นหลักฐานหากมีการแก้ไขหรือว่าดัดแปลงในเวลาต่อมา
นโยบายการแก้ไข
หากการทำงานของเรามีความผิดพลาด เราจะแก้ไขและเขียนไว้ในรายงานต้นฉบับ จะมีการทำเครื่องหมายอย่างชัดเจนว่า “แก้ข้อผิดพลาด” (CORRECTION) ที่ด้านล่างของบทความ โดยแสดงวันที่ที่เราได้แก้ไขไปพร้อมกับคำอธิบาย หากความผิดพลาดอย่างมีนัยสำคัญ (ความผิดพลาดที่ร้ายแรง) เราจะถอดรายงานออกจากหน้าเว็บพร้อมคำอธิบาย
ข้างล่างนี่คือลิงก์การแก้ไขของเราทั้งหมด
สำหรับการขยายความหรือการรายงานความคืบหน้าเราจะใช้คำว่า “แก้ไข” (EDIT) ที่ด้านล่างของบทความ
เครื่องมือ Claim Review
AFP ใช้เครื่องมือ Claim Review ในการผลิตรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งจะรวมไปถึงข้อมูลที่ถูกนำมากล่าวอ้าง ใครเป็นผู้กล่าวอ้าง และข้อสรุปของเรา ซึ่งเครื่องมือ Claim Review นี้จะอนุญาตให้เครื่องมือ เช่น Google และ Bing ทำการค้นหา เพื่อให้ง่ายต่อนำเสนอผลการค้นหาการกล่าวอ้างที่เฉพาะเจาะจง
โปรแกรมเฟซบุ๊ก
AFP เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมตรวจสอบข้อเท็จจริงของเฟซบุ๊ก โดยเราทำงานในฐานะบุคคลที่สาม ส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่เราตรวจสอบนั้นถูกส่งมาจากเฟซบุ๊ก ซึ่งเราจะทำการพิจารณาจากเนื้อหาว่าจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือไม่
งานตรวจสอบข้อเท็จจริงของ AFP ได้รับการสนับสนุนโดยตรงผ่านโปรแกรมของเฟสบุ๊ก
เนื้อหาที่ถูกตั้งเรตติ้งว่า “เป็นเท็จ” จะถูกปรับลดความสำคัญลง ซึ่งจะส่งผลให้คนทั่วไปเข้าถึงเนื้อหาดังกล่าวน้อยลง
โดยเนื้อหานั้นจะไม่ถูกลบออกจากระบบ
