แพทย์ที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นคนเขียนข้อมูล COVID-19 ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อมูลชุดนี้ ขณะที่ข้อมูลไม่เป็นความจริงบางส่วน
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 9 มีนาคม 2020 เวลา 09:00
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
ภาพเหล่านี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2563 และได้ถูกแชร์ออกไปอีกไม่ต่ำกว่า 2,800 ครั้ง
ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอโพสต์ที่เข้าใจผิด
คำบรรยายประกอบภาพเขียนว่า “คุณหมอ ท่านหนึ่ง เขียนสรุป “โควิด-19” ให้เห็นภาพ แบบเข้าใจง่ายๆ อยากให้อ่านและทำความเข้าใจ เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นนะคะ #สู้ไปด้วยกันชาวไทยรับผิดชอบตัวเองรับผิดชอบสังคม”
“ที่มา: แชร์มาค่ะ เห็นข้อมูลไม่เกินความจริง มีวิธีการปฏิบัติตัวพื้นฐานที่ทำได้ เลยนำมาแชร์เผื่อเป็นประโยชน์ค่ะ”
“Cr: Chutpong Owen Paiyasen
ระบุว่าเป็นลายมือคุณหมอ ธรณินทร์ กองสุข”
รูปถ่ายเอกสารฉบับแรกเขียนหัวข้อว่า “เล่าเรื่องเชื้อ COVID-19” กล่าวอ้างว่าผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการหลังไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด
กระดาษแผ่นที่ 2 เขียนหัวข้อว่า “อันตรายของเชื้อ Covid-19” และกล่าวว่าเชื้อ COVID-19 สามารถทำลายเนื้อเยื่อปอด ซึ่งจะทำให้เกิดแผลเป็นและทำให้ไม่สามารถทำงานอย่างเต็มที่ไปตลอดชีวิต
ภาพที่สามเขียนว่า “วิธีป้องกัน” และลงรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการติดเชื้อโคโรน่าไวรัส
ภาพเหล่านี้ถูกโพสต์พร้อมข้อความคล้ายๆ กันทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ นี่ นี่ นี่ นี่ และ นี่
คำกล่าวอ้างเหล่านี้มีบางส่วนที่ทำให้เข้าใจผิด ขณะที่คำกล่าวอ้างว่าเอกสารนี้เขียนโดยแพทย์รายหนึ่งไม่เป็นความจริง
--เล่าเรื่องเชื้อ COVID-19--
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพในประเทศไทยโต้แย้งข้อความที่เขียนว่า อาการป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าจะเริ่มแสดงอาการหลังไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด ว่าไม่เป็นความจริง
ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภากาชาดไทย กล่าวว่าแม้จะมีความเป็นไปได้ที่ไวรัสโคโรน่าสามารถเข้าสู่กระแสเลือด แต่มันไม่ใช่ปัจจัยที่จะมีผลต่อการแสดงอาการทางระบบทางเดินหายใจ
นพ. ธีระวัฒน์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP ทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 โดยอธิบายว่า “อาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ เช่นการไอหรืออาการเจ็บคอ เป็นปฏิกิริยาของร่างกายมนุษย์หลังการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่ามีบางอย่างผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกายของเรา”
นพ. ธีระวัฒน์ อธิบายเพิ่มว่า “ราว 20% ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าจะมีอาการรุนแรง ขณะที่อีก 80% จะมีอาการไม่รุนแรง แต่ก็สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้”
--อันตรายจากเชื้อ Covid-19--
ถึงแม้ว่าการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าจะสามารถทำให้ปอดเสียหายอย่างถาวรในกรณีที่อาการรุนแรงได้ แต่ นพ. ธีระวัฒน์ เผยว่าส่วนใหญ่แล้วไวรัสจะไม่ลามไปถึงปอดของผู้ป่วย
เพียงแค่ในกรณีรุนแรงเท่านั้นที่ปอดของผู้ป่วยจะเสื่อมสมรรถภาพและเกิดความเสียหายในระยะยาว
“อาการปอดติดเชื้อเป็นสัญญาณว่าร่างกายต่อสู้กับไวรัสเกินกว่าความจำเป็น ส่งผลให้เส้นเลือดปล่อยของเหลวออกมา”
--วิธีป้องกัน--
ข้อมูลที่อยู่ในเอกสารที่ถูกนำมาแชร์มีบางส่วนที่ตรงกับแนวทางปฏิบัติทางการขององค์การอนามัยโลก
ตัวอย่างเช่น การล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการเอามือมาสัมผัสที่ใบหน้าของตัวเอง
นอกจากนี้ นพ.ธรณินทร์ กองสุข แพทย์ที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นผู้เขียนและถ่ายเอกสารฉบับนี้ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 เพื่อชี้แจงว่าเขาไม่ได้เป็นคนที่เขียนข้อความในเอกสารที่ถูกแชร์ออกไป
โพสต์ของนพ.ธรณินทร์เขียนอธิบายไว้ว่า “ขอเรียนให้ทราบเพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจผิด … ว่าเอกสารดังกล่าวไม่ได้เป็นของผมนะครับ”
ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอโพสต์ของ นพ.ธรณินทร์ กองสุข
นอกจากนี้ นพ. ธรณินทร์ กองสุข ยืนยันกับสำนักข่าว AFP ทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ว่า “ผมไม่ได้เป็นคนเขียนเอกสารเหล่านี้ ประการแรกเลย นั่นไม่ใช่ลายมือผมและเนื้อหาก็มีส่วนที่ไม่ถูกต้องตามหลักข้อเท็จจริง”
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา