วิดีโอเหตุเที่ยวบินแอลจีเรียขัดข้องถูกแชร์อย่างผิด ๆ ว่าเป็นภาพก่อนเครื่องบินอาเซอร์ไบจานตก
- เผยแพร่ วันที่ 6 มกราคม 2025 เวลา 10:55
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"เสียงสุดท้ายบรรยากาศบนเครื่องบินเที่ยวบิน J2-8243 ข่าวสะเทือนขวัญรับปีไหม่เหตุเครื่องบินตกในประเทศคาซัคสถาน" ผู้ใช้งานติ๊กตอกเขียนคำบรรยายในโพสต์เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2567
โพสต์ดังกล่าวแชร์คลิปวิดีโอที่แสดงภาพผู้โดยสารในเครื่องบินหลายคนพูดว่า "อัลลอฮุอักบัร" ขณะที่หน้ากากออกซิเจนห้อยลงมา นอกจากนี้ ยังเห็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินสวมชุดสีฟ้าเดินไปตามทางเดิน
จากนั้น คลิปก็ตัดไปแสดงภาพซากเครื่องบินและงานไว้อาลัยผู้เสียชีวิตในอาคารผู้โดยสาร
โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์หลังจากเครื่องบินสายการบินอาเซอร์ไบจาน เอ็มบราเออร์ 190 ตกในคาซัคสถานในวันคริสต์มาส โดยมีผู้เสียชีวิต 38 รายจากทั้งหมด 67 ราย (ลิงก์บันทึก)
อิลฮัม อาลีเยฟ ประธานาธิบดีของอาเซอร์ไบจาน เรียกร้องให้รัสเซียออกมายอมรับว่ายิงพลาดใส่เครื่องบินลำดังกล่าวขณะที่เครื่องบินพยายามลงจอดที่สนามบินกรอซนีย์ตามกำหนด
แม้ว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียจะออกมาแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นในน่านฟ้าของรัสเซีย และได้ติดต่อหาอาลีเยฟทางโทรศัพท์เพื่อระบุว่า ระบบป้องกันภัยทางอากาศเปิดใช้งานอยู่ ณ ขณะนั้น แต่ทางการรัสเซียก็ไม่ได้ยืนยันอย่างเป็นทางการว่าเครื่องบินอาเซอร์ไบจานถูกโจมตีโดยระบบป้องกันภัยดังกล่าวหรือไม่
ยังมีโพสต์อื่น ๆ ที่แชร์วิดีโอดังกล่าวพร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นภาพก่อนเครื่องบินอาเซอร์ไบจานตก เช่น โพสต์เฟซบุ๊กจากประเทศไทยที่นี่ บังกลาเทศที่นี่ และฟิลิปปินส์ที่นี่
นอกจากนี้ ยังมีผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่แชร์วิดีโอดังกล่าวพร้อมคำกล่าวอ้างภาษาจีนว่า เป็นภาพช่วงสุดท้ายก่อนเที่ยวบินของสายการบินเชจูแอร์จากประเทศไทยประสบอุบัติเหตุในเกาหลีใต้ และคร่าชีวิตผู้คนไป 179 ราย โดยมีผู้รอดชีวิตเพียงสองคนเท่านั้น (ลิงก์บันทึก)
แม้จะยังไม่มีการระบุสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เครื่องบินของเชจูแอร์ตก แต่ทีมสืบสวนชี้ว่าหนึ่งในสาเหตุที่เป็นไปได้คือนกบินชนเครื่องบิน ซึ่งส่งผลให้อุปกรณ์ลงจอดเกิดเหตุขัดข้อง จนเครื่องบินไถลไปกระแทกแนวกั้นปลายรันเวย์
อย่างไรก็ตาม คลิปวิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่หลายเดือนก่อนจะเกิดทั้งสองเหตุโศกนาฏกรรมในอาเซอร์ไบจานและเกาหลีใต้
รายงานระบุว่าวิดีโอดังกล่าวแสดงภาพเหตุขัดข้องทางเทคนิคบนเที่ยวบินของสายการบินแอร์แอลจีเรียในเดือนกันยายน 2567 ซึ่งเครื่องบินลำดังกล่าวบินกลับมาลงจอดที่สนามบินในแอลเจียร์ เมืองหลวงของแอลจีเรีย ได้อย่างปลอดภัย
เที่ยวบินของแอร์แอลจีเรีย
การค้นหาภาพย้อนหลังผ่านกูเกิล พบวิดีโอเดียวกันนี้ถูกเผยแพร่ในโพสต์เฟซบุ๊กของบัญชีชื่อ Info Trafic Algerie ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่เผยแพร่ข่าวสารการจราจรในแอลจีเรีย เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567 (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)
โพสต์ดังกล่าวเขียนคำบรรยายเป็นภาษาอาหรับว่า วิดีโอนี้แสดงให้เห็นเที่ยวบินของสายการบินแอร์แอลจีเรีย เที่ยวบิน AH 3018 ซึ่งประสบปัญหาขัดข้องทางเทคนิคระหว่างบินไปยังอิสตันบูล เมืองหลวงของตุรกี
บางส่วนของคำบรรยายวิดีโอระบุว่า "หลังจากนำเครื่องบินขึ้นไปแล้วหนึ่งชั่วโมง กัปตันเที่ยวบินตัดสินใจเดินทางกลับสนามบินนานาชาติฮูอารี บูเมเดียน ตามมาตรการการรักษาความปลอดภัยสำหรับผู้โดยสารและลูกเรือ"
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอที่แชร์ในโพสต์เฟซบุ๊กของ Info Trafic Algerie (ขวา):
นอกจากนี้ ภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอดังกล่าวยังถูกแชร์ในบทความของสำนักข่าวอีโชรุกเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ซึ่งรายงานว่าเที่ยวบินของสายการบินแอร์แอลจีเรียจำเป็นต้องบินกลับสนามบินในเมืองแอลเจียร์ (ลิงก์บันทึก)
นอกจากนี้ วิดีโอดังกล่าวยังถูกเผยแพร่ทางช่องยูทูบของสำนักข่าวอัลจาซีราเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 ด้วย โดยในช่วงวินาทีที่ 36 มีเสียงผู้โดยสารหลายคนพูดว่า "อัลลอฮุอักบัร" (ลิงก์บันทึก)
คำอธิบายวิดีโอของอัลจาซีราระบุว่า คลิปแสดงภาพผู้โดยสารเที่ยวบินแอร์แอลจีเรียกำลังตื่นตระหนกเมื่อเครื่องบินประสบปัญหาขัดข้องทางเทคนิค จนจำเป็นต้องลงจอดฉุกเฉิน
ส่วนคลิปอื่น ๆ ที่แสดงภาพซากเครื่องบินอาเซอร์ไบจานนั้นเป็นภาพจากเหตุการณ์จริง โดยสำนักข่าวหลายแห่งได้เผยแพร่ภาพดังกล่าว รวมถึงหนังสือพิมพ์ของอังกฤษอย่างเทเลกราฟด้วย (ลิงก์บันทึก)
ส่วนคลิปที่แสดงภาพงานไว้อาลัยผู้เสียชีวิตนั้น เป็นภาพจากการไว้อาลัยหนึ่งนาทีสำหรับผู้ประสบเหตุเครื่องบินตก โดยจัดขึ้นที่สนามบินบากู -- สนามบินต้นทาง -- ซึ่ง AFP ได้เผยแพร่ภาพจากงานดังกล่าวไว้ด้วย (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา