ภาพสต็อกเก่าถูกแชร์ในโพสต์เท็จว่าเป็นภาพสุนัขกู้ภัยในไทยหลังเหตุแผ่นดินไหว

หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เจ้าหน้าที่พร้อมสุนัขกู้ภัยได้เข้าร่วมปฏิบัติการเพื่อค้นหาผู้รอดชีวิตที่ติดอยู่ใต้อาคารที่พังถล่ม อย่างไรก็ตาม ภาพที่ถูกแชร์อย่างแพร่หลายพร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็นภาพสุนัขกู้ภัยที่ค้นหาผู้รอดชีวิตใต้ซากปรักหักพังนั้นเป็นภาพสต็อกจากเว็บไซต์คลังภาพ และถูกเผยแพร่มาก่อนแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2561

"สุนัขจากไทย 2 ตัวไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้นสามารถช่วยชีวิตคนได้ 10 คนแฃ้ว หล่อมากเลย!!!" โพสต์เฟซบุ๊กเขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2568 พร้อมแชร์ 3 ภาพที่แสดงให้เห็นสุนัขบนซากปรักหักพัง

โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ไปมากกว่า 14,000 ครั้ง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

ภาพดังกล่าวยังปรากฏในหลายโพสต์หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ทำให้ตึกสูงที่กำลังก่อสร้างในกรุงเทพฯ พังถล่มลงมา

เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า เหตุตึกถล่มครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 18 ราย บาดเจ็บ 33 ราย และยังสูญหายอีก 78 ราย ณ วันที่ 31 มีนาคม (ลิงก์บันทึก)

ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นแรงงานก่อสร้างที่ทำงานอยู่ขณะตึกถล่ม ขณะที่เจ้าหน้าที่ยังคงพยายามค้นหาผู้สูญหายที่คาดว่ายังติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง ใกล้ตลาดนัดจตุจักร

เจ้าหน้าที่ได้นำสุนัขกู้ภัยและโดรนถ่ายภาพตรวจจับความร้อนมาใช้ในภารกิจค้นหาผู้รอดชีวิตในซากอาคารก่อสร้างดังกล่าว

แผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูดคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 1,700 รายในประเทศเมียนมาร์ โดยในเมืองมัณฑะเลย์ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ความหวังในการพบผู้รอดชีวิตกำลังจะหมดลง

แต่จากการค้นหาภาพย้อนหลังในกูเกิล พบว่าภาพสุนัขที่ถูกแชร์อย่างแพร่หลาย ถูกเผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์คลังภาพ Shutterstock ซึ่งเป็นผลงานของช่างภาพชาวเช็กชื่อ Jaroslav Noska (ลิงก์บันทึก)

ภาพทั้งสามภาพมีคำบรรยายที่ระบุว่า "สุนัขกำลังค้นหาผู้รอดชีวิตในซากปรักหักพังหลังแผ่นดินไหว" (ลิงก์บันทึกที่นี่  นี่ และ นี่)

Shutterstock ไม่ได้ระบุว่าภาพเหล่านี้ถูกถ่ายเมื่อไรหรือที่ไหน

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) กับภาพจาก Shutterstock (ขวา)
Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) กับภาพจาก Shutterstock (ขวา)
Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) กับภาพจาก Shutterstock (ขวา)

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่แชร์ภาพชุดเดียวกันนี้พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็นภาพจากเหตุแผ่นดินไหวในประเทศตุรกี

เว็บไซต์คลังภาพ Alamy ยังเผยแพร่ภาพเดียวกันนี้อย่างน้อยอีกสองภาพ โดยระบุว่าภาพเหล่านี้ถูกถ่ายเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561 (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

ก่อนหน้านี้ ตัวแทนของ Alamy ได้ระบุกับ AFP ว่า "เท่าที่ฉันทราบ ภาพทั้งสองถูกเผยแพร่โดยช่างภาพคนเดียวกันเมื่อเดือนตุลาคม 2561"

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา