
ภาพผู้ประท้วงชาวตุรกีสวมชุดปิกาจูเป็นภาพที่สร้างจากปัญญาประดิษฐ์
- เผยแพร่ วันที่ 3 เมษายน 2568 เวลา 08:00
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
สำนักข่าวในไทยแห่งหนึ่งได้แชร์ภาพลงในโพสต์ติ๊กตอกเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 โดยเผยแพร่ภาพผู้ชุมนุมสวมชุดปิกาจูขณะถูกตำรวจล้อมในเวลากลางคืน
"'พิคาชู' ขโมยซีน!! ปรากฏตัวกลางม็อบประท้วงอิสตันบูล สร้างขวัญกำลังใจร่วมกับประชาชนนับพันที่เดือดจัด ต่อต้านจับกุมนายกฯ 'เอเครม อิมาโมกลู'" ข้อความในภาพระบุ
คำบรรยายภาพยังระบุด้วยว่า "การชุมนุมดังกล่าวเต็มไปด้วยอารมณ์เดือดดาล แต่กลับมีจังหวะน่าประหลาดใจ เมื่อมีชายหรือหญิงในชุดมาสคอต 'พิคาชู' จากการ์ตูนดังอย่างโปเกมอนร่วมเดินขบวนอย่างฮึกเหิม"

ยังมีโพสต์อื่นที่ภาพเดียวกันนี้พร้อมคำกล่าวอ้างลักษณะเดียวกันในภาษาอังกฤษ สเปน อินโดนีเซีย และ กรีก
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 นายเอเครม อิมาโมกลู นายกเทศมนตรีของเมืองอิสตันบูลสังกัดพรรคฝ่ายค้าน ถูกจับกุมข้อหาคอร์รัปชันและสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งจุดชนวนการประท้วงที่รุนแรงที่สุดในตุรกีในรอบหลายปี โดย AFP รายงานว่ามีนักศึกษาถูกจับกุมแล้วกว่า 300 คน (ลิงก์บันทึก)
อิมาโมกลู วัย 53 ปี เป็นสมาชิกพรรค CHP ฝ่ายค้านหลักของตุรกี และถือเป็นคู่แข่งทางการเมืองคนสำคัญของประธานาธิบดีแอร์โดอัน โดยเขาถูกควบคุมตัวเพียงไม่กี่วันก่อนพรรคเตรียมประกาศส่งตัวเขาชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งปี 2571
โพสต์ที่แชร์ภาพผู้ชุมนุมสวมชุดปิกาจูนั้นปรากฏขึ้นหลังจากมีรายงานข่าวว่าผู้ชุมนุมในตุรกีรายหนึ่งสวมชุดปิกาจูและวิ่งหนีตำรวจ (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)
อย่างไรก็ตาม ภาพที่แชร์บนโลกออนไลน์นั้นเป็นภาพที่สร้างด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI)
'ไม่ใช่ภาพจริง'
การค้นหาภาพย้อนหลังพบภาพคล้ายกันที่มีขนาดใหญ่กว่า ถูกเผยแพร่ในโพสต์ X ของนักข่าวชาวอังกฤษรายหนึ่งเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 ก่อนที่โพสต์ดังกล่าวจะถูกลบไปในเวลาต่อมา
โดยในโพสต์ X นี้จะสามารถสังเกตเห็นเบาะแสว่าเป็นภาพจาก AI เช่น ป้ายคำว่า "Tolis" บนรถตู้ตำรวจซึ่งสะกดผิด

บริษัทวิเคราะห์ดิจิทัล GetReal Labs ระบุกับ AFP ว่า ภาพดังกล่าว "ไม่ใช่ภาพจริง" แต่ถูกสร้างขึ้นด้วยเอไอ (ลิงก์บันทึก)
"โมเดลทั้ง 3 ของเรา ซึ่งได้รับการฝึกมาเพื่อวิเคราะห์ภาพที่สร้างจากเอไอล้วนพบว่าภาพนี้เป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้น" บริษัทระบุในอีเมลเมื่อวันที่ 28 มีนาคม
GetReal Labs ยังระบุเพิ่มเติมว่า นี่เป็นเพียงตัวอย่างการแชร์ภาพที่สร้างด้วยเอไอ ที่ถูกเชื่อมกับเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ เช่น พายุเฮอริเคนมิลตันและเหตุไฟไหม้ในลอสแอนเจลิส
"เมื่อสื่อสังเคราะห์ยิ่งดูสมจริงมากขึ้น ผู้ใช้งานออนไลน์ต้องเผชิญกับเนื้อหาปลอมที่ไม่มีการระบุแหล่งที่มาและตรวจสอบได้ยากยิ่งขึ้น"
แม้ยังไม่มีวิธีที่แม่นยำ 100% ในการตรวจจับภาพที่สร้างจากเอไอ แต่การสังเกตความผิดปกติในภาพช่วยให้สามารถแยกแยะระหว่างภาพถ่ายจริงและภาพที่สร้างด้วยเอไอได้ เนื่องจากการสร้างภาพด้วยเอไอยังอาจมีข้อผิดพลาดบางประการ แม้เทคโนโลยีเอไอจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็วก็ตาม
ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ประท้วงในตุรกีเมื่อเดือนมีนาคมปี 2568 สามารถอ่านรายงานภาษาไทยได้ที่นี่ นี่ และ นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา