นี่เป็นภาพโจ ไบเดน คุกเข่าลงเพื่อคุยกับเด็กชายในเมืองดีทรอยต์ ไม่ใช่ลูกชายของจอร์จ ฟลอยด์

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 6 สิงหาคม 2021 เวลา 06:36
  • อัพเดตแล้ว วัน 6 สิงหาคม 2021 เวลา 08:02
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ภาพถ่ายที่แสดง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คุกเข่าลงต่อหน้าเด็กผิวสี ได้ถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์ในหลายประเทศทั่วโลก พร้อมคำกล่าวอ้างว่าผู้นำสหรัฐฯ คุกเข่าลงเพื่อขอโทษ “ลูกชายของจอร์จ ฟลอยด์” ชายชาวอเมริกันผิวสีที่เสียชีวิตระหว่างการจับกุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งการตายของฟลอยด์เป็นชนวนที่นำไปสู่การประท้วงต่อต้านการเหยียดสีผิวทั่วโลก อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ภาพต้นฉบับเป็นภาพถ่ายขณะที่ไบเดนเดินสายหาเสียงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยเด็กชายในภาพไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับจอร์จ ฟลอยด์

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 30 กรกฏาคม 2564 และได้ถูกแชร์ต่ออีกกว่า 14,000 ครั้ง

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา Joe Biden ขอโทษเด็กที่ยืนอยู่?

ใช่แล้ว โจไบเดนประธานาธิบดีสหรัฐฯกําลังคุกเข่าขอโทษลูกชายของชาวอเมริกัน “จอร์จฟลอยด์” ที่สูญเสียชีวิตเนื่องจากกําลังตํารวจ
นี่คือสิ่งที่ประชาธิปไตยกําลังบอกทุกคน
#หันมาดูประเทศเรานะจ๊ะ

โพสต์ดังกล่าวได้แชร์ภาพโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใส่เสื้อสูทสีน้ำเงินและหน้ากากอนามัย คุกเข่าลงข้างหนึ่งข้างหน้าเด็กชายผิวสีที่ใส่ชุดวอร์มสีเทา

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

ภาพพร้อมคำกล่าวอ้างเดียวกัน ถูกแชร์ในประเทศฝรั่งเศสไม่กี่วันหลังจากที่ไบเดนประกาศชัยชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน ขณะที่กมลา แฮร์ริส ได้กลายเป็นผู้หญิงผิวสีคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ

คำกล่าวอ้างเดียวกันได้ถูกแชร์อย่างต่อเนื่องในประเทศไนจีเรีย และประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกา 

ในเดือนกรกฏาคม 2564 คำกล่าวอ้างเดียวกันถูกแชร์ในประเทศไทยที่นี่และนี่ และในประเทศเมียนมาร์ที่นี่และนี่

การตายของ จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสีชาวอเมริกัน วัย 46 ปี ซึ่งร้องขอชีวิตกับเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวที่คุกเข่าทับลงที่คอของเขาเป็นเวลานานกว่าห้านาที ที่เมืองมินนิอาโปลิส รัฐมินนิโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤษภาคม ปี 2563 เป็นชนวนที่นำไปสู่การประท้วงใหญ่หลายแห่งในสหรัฐฯ และหลายประเทศทั่วโลกภายใต้การเคลื่อนไหว “แบล็กไลฟ์แมทเทอร์” ซึ่งเริ่มขึ้นในปีพ.ศ. 2556 โดยมีจุดประสงค์เพื่อหยุดความรุนแรงของตำรวจและการเหยียดสีผิว 

Image
ผู้ประท้วงแบล็กไลฟ์แมทเทอร์ในเมืองน็องต์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563 ( Loic VENANCE / AFP)

การประท้วงต่อต้านการเหยียดสีผิวได้กระจายออกไปในหลายประเทศทั่วโลก โดยผู้ประท้วงมีการแสดงออกทางสัญลักษณ์โดยการคุกเข่าลงข้างเดียว ซึ่งมีต้นแบบมาจากนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล โคลิน เคเปอร์นิก เพื่อเป็นการประณามความรุนแรงต่อคนผิวสี

ภาพถ่ายที่ร้านเสื้อผ้าในเมืองดีทรอยต์

คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ภาพถ่ายดังกล่าวไม่ได้แสดงลูกชายของจอร์จ ฟลอยด์ แต่เด็กในภาพเป็นลูกชายของเจ้าของร้านขายเสื้อผ้าที่ไบเดนแวะเข้าไปขณะเดินทางหาเสียง

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล พบภาพต้นฉบับถูกเผยแพร่ที่นี่ บนเว็บไซต์ของ Getty Images หน่วยงานภาพถ่ายนานาชาติ

Embed from Getty Images

คำบรรยายภาพระบุว่าเป็นภาพถ่ายของ Chip Somodevilla เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 ในเมืองมิชิแกน โดยภาพแสดงไบเดน คุกเข่าลงเพื่อคุยกับ C.J. Brown ลูกชายของ Clement Brown ซึ่งเป็นเจ้าของร้าน “Three Thirteen” ร้านเสื้อผ้าในเมืองดีทรอยต์

ไบเดน ซึ่งเดินทางมาหาเสียงในเมืองมิชิแกน เดินทางไปยังร้านดังกล่าวเพื่อซื้อของฝากให้กับหลานของเขา ภาพอีกภาพหนึ่งของ Getty Images แสดงไบเดนขณะเขาทักทายกับ Clement Brown

Jim Watson ช่างภาพของสำนักข่าว AFP ได้ถ่ายภาพเหตุการณ์เดียวกันในภาพถ่ายนี้ ซึ่งแสดง Clement Brown อยู่ในภาพโดยที่เขาใส่เสื้อและกางเกงยีนส์สีเทา

Image
โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พูดคุยกับ CJ Brown (ขวา) ขณะซื้อเสื้อผ้าที่ร้าน Three Thirteen ในเมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 ( Jim WATSON / AFP)

ในภาพถ่ายของสำนักข่าว AFP ในวันเดียวกัน ไบเดนคุกเข่าลงข้างๆ ราวแขวนเสื้อ โดยในมือซ้ายของเขาถือเสื้ออยู่ ขณะที่เด็กชายที่ใส่เสื้อสีเทา เอาใบหน้าหลบข้างหลังผู้หญิงอีกคนหนึ่ง

Image
โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พูดคุยกับ CJ Brown (ซ้าย) ขณะซื้อของที่ร้าน Three Thirteen ในเมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 ( Jim WATSON / AFP)

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้แชร์ภาพขณะเขาเดินทางมาที่ร้านขายเสื้อผ้าแห่งนี้บนเพจอินสตาแกรมของเขา โดยได้เขียนคำบรรยายภาพถึงความสำคัญของระบบยุติธรรมต่อเด็กและครอบครัวของพวกเขา

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา