กระถางต้นบอนสีวางจำหน่วยที่ตลาดแห่งหนึ่งในย่านสุไหงเบซาร์ ชานเมืองกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 ( AFP / MOHD RASFAN)

ภาพถ่ายที่ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้าง “นักการตลาดจีนเข้ามาปั่นราคาบอนสี” เป็นภาพถ่ายในสหรัฐฯ

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 11 ตุลาคม 2021 เวลา 05:41
  • อัพเดตแล้ว วัน 11 ตุลาคม 2021 เวลา 05:47
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ภาพถ่ายชุดหนึ่งซึ่งแสดงสวนบอนสีได้ถูกแชร์หลายพันครั้งในโพสต์ทางเฟซบุ๊ก พร้อมคำกล่าวอ้างว่าราคาต้นไม้ชนิดดังกล่าวที่ได้รับความนิยมอย่างมาก “ถูกปั่นโดยนักการตลาดจีน” คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด ภาพถ่ายชุดนี้เป็นภาพถ่ายสวนบอนสีในรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา สำนักข่าว AFP ไม่พบรายงานข่าวที่มีน่าเชื่อถือเกี่ยวกับการปั่นราคาบอนสีของนักการตลาดชาวจีน

ภาพถ่ายชุดนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564

คำบรรยายบางส่วนของโพสต์เขียนว่า: “อย่าเห่อตามกระแสบ้าบอนสีให้มากนัก”

“ที่แท้นักการตลาด(จีน)เขาเข้ามาปั่นราคาบอนสี เพราะเขาทำไร่บอนเป็นอุตสาหกรรม ดังภาพที่เห็น”

คำบรรยายในโพสต์ได้กล่าวหาว่านักการตลาดชาวจีนเข้ามาปั่นราคาบอนสี และเตือนให้คนระวังการเสียทรัพย์เมื่อตลาดบอนสี "เลยจุดอิ่มตัว"

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

บอนสีคือต้นไม้ที่โตในเขตร้อน โดยจะมีเอกลักษณ์ตรงลวดลายและสีของใบที่สวยงาม

ต้นไม้ที่ปลูกในบ้านได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศไทยในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากผู้คนมีต้องการที่จะเพิ่มสีสันภายในบ้านในช่วงที่มีการล็อคดาว์น หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงาน โดยเฉพาะต้นบอนสีที่ใบมีลวดลายและสีสันที่สวยงามจะมีราคาที่สูง สื่อท้องถิ่นรายงานว่าต้นบอนสีที่มีลายและสีที่หายากถูกตั้งราคาสูงถึง 1 ล้านบาท

ภาพถ่ายสวนบอนสีชุดนี้ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด ภาพถ่ายชุดนี้แสดงสวนบอนสีในประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่ประเทศจีน

ภาพที่หนึ่ง

AFP พบภาพถ่ายที่คล้ายกับภาพที่หนึ่งในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด ถูกเผยแพร่ที่นี่ บนเว็บไซต์ภาพสต็อก Alamy ข้อมูลเพิ่มเติมในภาพระบุว่าเป็นภาพถ่ายเมื่อวันที่ 27 กรกฏาคม 2561

คำบรรยายภาพแปลเป็นภาษาไทยว่า: “สีสันที่หลากหลายของดอกบอนสีที่ปลูกใน Lake Placid รัฐฟลอริดา ซึ่งกว่า 90% ของบอนสีทั้งโลกมาจากฟลอริดา”

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่หนึ่งในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายของ Alamy (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่หนึ่งในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายของ Alamy (ขวา)

ภาพที่สอง

การค้นหาภาพย้อนหลังและการค้นหาด้วยคำสำคัญ พบภาพถ่ายที่มีขนาดใหญ่กว่าภาพที่สองถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 8 กรกฏาคม 2561 โดย Classic Caladiums ซึ่งเป็นเพจของฟาร์มบอนสีแห่งหนึ่งในรัฐฟลอริดา ในสหรัฐฯ

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่สองในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายจากโพสต์ของ Classic Caladium (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่สองในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายจากโพสต์ของ Classic Caladium (ขวา)

ภาพที่สาม

การค้นหาภาพย้อนหลังและการค้นหาด้วยคำสำคัญพบภาพถ่ายที่มีขนาดใหญ่กว่าภาพที่สาม ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2562 โดยเป็นภาพของ Classic Caladiums


ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่สามในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายจากโพสต์ของ Classic Caladium (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่สามในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายจากโพสต์ของ Classic Caladium (ขวา)

ภาพที่สี่

การค้นหาภาพย้อนหลังและการค้นหาด้วยคำสำคัญ พบภาพถ่ายเดียวกันที่มีขนาดใหญ่กว่าภาพที่สี่ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562 โดยเพจเฟซบุ๊กที่มีชื่อว่า Happiness Farms

Happiness Farms คือสวนปลูกบอนสีที่ตั้งอยู่ในเขต Lake Placid รัฐฟลอริดา

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่สี่ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายจากโพสต์ของ Happiness Farms (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่สี่ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายจากโพสต์ของ Happiness Farms (ขวา)

สำนักข่าว AFP ไม่พบรายงานข่าวที่น่าเชื่อถือ เกี่ยวกับพ่อค้าชาวจีน และการเก็งกำไรราคาบอนสี

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา