พืชกัญชาที่ปลูกจากฟาร์มของสมาคมวิจัยกัญชาทางการแพทย์และสนับสนุนผู้ป่วย (APEPI) ในรัฐริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 ( AFP / MAURO PIMENTEL)

ผู้ใช้เฟซบุ๊กแชร์คำกล่าวอ้างเท็จว่า “กัญชาดองน้ำผึ้งสามารถรักษา 40 อาการ”

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 18 ตุลาคม 2021 เวลา 07:59
  • อัพเดตแล้ว วัน 18 ตุลาคม 2021 เวลา 08:16
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
คำกล่าวอ้างที่ระบุว่า “กัญชาดองน้ำผึ้ง” สามารถใช้รักษาโรคได้กว่า 40 ชนิด ซึ่งรวมไปถึงโรคอัลไซเมอร์ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ได้ถูกแชร์หลายร้อยครั้งในหลายโพสต์ทางเฟซบุ๊ก คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการใช้กัญชาดองน้ำผึ้งจะสามารถรักษาโรคต่างๆ ตามที่ถูกกล่าวอ้างในโพสต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกล่าวว่าผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถ้ามีความกังวลด้านสุขภาพ

คำกล่าวอ้างเรื่องสรรพคุณในการรักษาของพืชกัญชา ถูกโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2564 และได้ถูกแชร์ต่ออีกกว่า 600 ครั้ง

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “กัญชาดองน้ำผึ้ง..สรรพคุณช่วยรักษา 40 อาการ”

โพสต์ดังกล่าวได้อ้างถึงโรคต่างๆ เช่นอัลไซเมอร์ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง

“กัญชา ทั้งต้น(ต้นกะเทยยิ่งดี) 1 ต้น กิ่ง ก้าน ใบ ราก ดอก หั่นเป็นท่อน แล้ว ตาก 1 แดด ดองไว้ 15 วัน แล้วกินวันละ 1 ช้อนชาก่อนนอน”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

กัญชาเป็นพืชสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้เป็นยารักษาแผนโบราณมาเป็นเวลากว่าหลายศตวรรษ แต่ได้เปลี่ยนเป็นสิ่งผิดกฏหมายเมื่อไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศเรื่องการปลดล็อกกัญชาสำหรับการใช้รักษาทางการแพทย์

ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 กัญชาได้ถูกปลดออกจากรายการ “ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5” ส่งผลให้ประชาชนสามารถปลูกต้นกัญชาได้หากได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ายังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ว่าวิธีการรักษาดังกล่าวสามารถรักษาอาการป่วยหรือโรคต่างๆ 

“ไม่มีหลักฐาน”

นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย อธิบายกับ AFP ว่ายังไม่มีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพของวิธีการรักษาดังกล่าว

“จากในตำรา ไม่มีงานวิจัยที่มายืนยันว่าสูตรดังกล่าวได้ผลจริง” เขากล่าว

นพ.ขวัญชัย กล่าวต่อว่าไม่ควรนำสูตรกัญชาที่ทำเองที่บ้านมาใช้แทนการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบัน

“ในกรณีที่ป่วย ควรพบคุณหมอเพื่อตรวจรักษาโรค อย่าไปหยุดการรักษาของแพทย์และควรคงการรักษานั้นไว้” นพ.ขวัญชัย กล่าว

นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้เชี่ยวชาญด้านกัญชาทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันกับ AFP เช่นกันว่ามีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ว่าวิธีการรักษาสูตรดังกล่าวสามารถ “รักษา” โรคได้

“ไม่มีข้อสนับสนุนหรือคัดค้านสูตรนึ้” เขากล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564

“ถึงแม้ว่ากัญชามีฤทธิ์ต้านอักเสบ แต่ผู้ป่วยไม่สามารถละเลยการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบันได้  เพราะจะเสียโอกาสในการรักษา [อย่างมีประสิทธิภาพ]”

ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่าแม้กัญชาอาจมีสรรพคุณในการบรรเทาอาการบางอย่าง แต่ไม่สามารถนำมาใช้เพื่อ “รักษา” โรคต่างๆ ได้

“ความรู้โบราณ กัญชาสามารถใช้เพื่อแก้ปวด นอนหลับสนิท หรือทำให้คนไข้มีอารมณ์ดี อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานว่ามันสามารถนำไปใช้เพื่อการรักษาโรค” เธออธิบายกับ AFP

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา