ภาพถ่ายนักกีฬาชายกลุ่มอายุ 60-65 แข่งวิ่งข้ามรั้ว 100 เมตร ในการแข่งขันกีฬาผู้สูงอายุแห่งชาติครั้งแรกของประเทศไทย จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2561 ( AFP / LILLIAN SUWANRUMPHA)

โพสต์ออนไลน์แชร์คำกล่าวอ้างเท็จเรื่องการ “กระโดดแรงสามารถรักษาอาการปัสสาวะลำบากสำหรับผู้สูงอายุ”

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 12 พฤศจิกายน 2021 เวลา 10:38
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
โพสต์หลายโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ในไทยได้แชร์คำกล่าวอ้างว่าการ “กระโดดแรงๆ ราว 15-20 ครั้ง” สามารถรักษาอาการปัสสาวะลำบากในผู้สูงอายุได้ คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพยืนยันกับ AFP ว่าคำกล่าวอ้างนี้เป็น “ข่าวปลอม 100%” และ “อันตรายมาก” เนื่องจากอาจจะส่งผลให้ผู้สูงอายุได้รับบาดเจ็บ

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวัน 15 ตุลาคม 2564

คำบรรยายโพสต์เขียนบางส่วน “ผู้สูงอายุ: หากจู่ๆ ปัสสาวะไม่ออก ฉันควรทำอย่างไรดี”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

โพสต์ดังกล่าวเล่าเรื่องของแพทย์วัย 70 ที่มีปัญหาในการปัสสาวะ เขาพบกับเพื่อนเก่าที่ได้แนะนำวิธีรักษาดังกล่าวให้กับเขา

“ลุกขึ้น กระโดดแรงๆ ยกมือขึ้นเมื่อกระโดด เหมือนกับการเก็บมะม่วงจากต้นไม้  ทำเช่นนี้ 15 ถึง 20 ครั้ง” โพสต์ดังกล่าวเขียน

“แม้จะไม่ค่อยเชื่อนัก แต่หมอเฒ่าก็พยายามทำ  เขาโล่งใจมากเมื่อปัสสาวะเริ่มไหล”

“เขารู้สึกปลาบปลื้มและขอบคุณเพื่อนร่วมเล่นในวัยเด็กที่แก้ปัญหานี้ด้วยวิธีง่ายๆ ไม่เช่นนั้นพวกเขาจะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยพวกเขาจะใส่สายสวน ฉีดยา ยาปฏิชีวนะ”

คำกล่าวอ้างเดียวกันถูกแชร์ในโพสต์ทางเฟซบุ๊ก ที่นี่ นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ

“คำกล่าวอ้างนี้เป็น Fake news 100% การกระโดดไม่สามารถช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการดังกล่าวได้” นพ. อัครฐาน จิตนุยา ผู้อำนวยการของสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับ AFP เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564

“ผู้สูงอายุ ทั้งชายและหญฺิง ที่ไม่สามารถปัสสาวะไม่ออกควรไปพบแพทย์และ เล่าอาการให้คุณหมอฟัง”

ปัญหาในการปัสสาวะในกลุ่มผู้สูงอายุเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ นพ. อัครฐาน อธิบาย

“แพทย์จะสามารถวินิจฉัยเพื่อรู้สาเหตุเบื้องต้น และสามารถรักษาอาการดังกล่าวได้อย่างถูกวิธี ซึ่งอาจจะใช้สายสวนปัสสาวะหรือการผ่าตัด”

ผศ. นพ. กวิรัช ตันติวงษ์ ศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปฎิเสธคำกล่าวอ้างดังกล่าวในโพสต์ด้วยเช่นเดียวกัน

“การกระโดดไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมในการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการถ่ายปัสสาวะ” เขาบอกกับ AFP เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564

“อันตรายมาก”

การกระโดดแรงสามารถสร้างความ “อันตรายมาก” สำหรับผู้สูงอายุ นพ. อัครฐานเตือน

“ผู้สูงอายุอาจจะพลัดตกหกล้ม แขนขาหักได้” เขากล่าว

นพ. กวิรัช อธิบายเช่นกันว่า “ผู้สูงอายุที่มีปัญหาในการทรงตัวอาจกระดูกหัก หรืออาจรู้สึกเวียนหัวและล้มลง”

คำกล่าวอ้างเดียวกันถูกตรวจสอบโดยศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ของสำนักข่าวไทยที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา