ภาพแสดงถุงเลือดที่ศูนย์โลหิตบำบัดในเมืองซานตาครูซ เด เตเนริเฟ หมู่เกาะคะแนรี ประเทศสเปน ในปี 2561 ( AFP / DESIREE MARTIN)

ผู้เชี่ยวชาญกล่าว: เลือดที่บริจาคโดยผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ได้ “มีสีคล้ำและเป็นพิษ”

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 9 ธันวาคม 2021 เวลา 08:34
  • อัพเดตแล้ว วัน 9 ธันวาคม 2021 เวลา 08:40
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
โพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์กล่าวว่าสภากาชาดประสบปัญหาขาดแคลนเลือดที่ใช้ได้ในช่วงปลายปี 2564 เนื่องจากเลือดที่ได้รับจากการบริจาคเป็นเลือดของผู้ที่รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งต้องนำไปทิ้งเนื่องจากเลือดดังกล่าว “มีสีคล้ำและเป็นพิษ” คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่าวัคซีนโควิด-19 ไม่มีผลต่อความเป็นพิษหรือสีของโลหิต สภากาชาดยืนยันว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นเท็จ พร้อมอธิบายว่าคนที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 สามารถบริจาคโลหิตได้ 7 วันหลังการฉีดวัคซีน

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564

คำกล่าวอ้างดังกล่าวถูกแชร์ออนไลน์ ภายหลังจากที่สภากาชาดไทยประกาศว่าประสบปัญหาขาดแคลนเลือด สื่อท้องถิ่นรายงานในเดือนพฤศจิกายน

โพสต์ดังกล่าวเขียนคำบรรยายบางส่วนว่า “ใครอยากตายเร็วก็เชิญฉีดกระตุ้นเข็ม 3 เข็ม 4 ได้เลยนะ  อนิจจา เป็นเวรกรรมของสภากาชาดไทยที่ ขาดแคลนเลือดอย่างหนัก”

“จะผ่าตัดคนป่วยก็ยากละสิ คนส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนมา เลือดมันเสีย ใช้ไม่ได้ คือเลือดมันดำคล้ำเป็นพิษใช้ไม่ได้  นี่ก็เท่ากับฆ่าคนทางอ้อมอีกวิธีหนึ่งเลยละ / คนไม่ฉีดวัคซีน เลือดดี กาชาดต้องการ ใครจะไปบริจาคก็ยินดี เพราะเลือดขาดจริงๆ”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

นอกจากคำกล่าวอ้างดังกล่าว โพสต์ยังแชร์ภาพถ่ายอีกสามภาพ

ภาพแรกเป็นภาพถ่ายหน้าจอข้อความที่ถูกแชร์ทางไลน์ พร้อมข้อความที่เขียนว่า: “สภากาชาดจ่ายเลือดได้เพียง 43% กระทบรักษา-ผ่าตัด”

ภาพที่สองแสดงถุงใส่เลือด

ขณะที่ภาพที่สามแสดงเลือดที่อยู่ในหลอดฉีดยาสองหลอดซึ่งมีสีต่างกัน  ข้างๆ หลอดมีข้อความที่เขียนว่า “ก่อนฉีด” ขณะที่อีกหลอดที่สีเข้มกว่าเขียนว่า “หลังฉีด” 

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่และนี่

คำกล่าวอ้างนี้ เป็นเท็จ

“ไม่มีความเกี่ยวข้องกับวัคซีน”

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม อธิบายว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นเท็จ

“ไม่มีหลักฐานว่าวัคซีนโควิด-19 ส่งผลต่อสีเลือดนะครับ” เขาบอกกับ AFP “คำกล่าวอ้างที่ว่าเลือดของผู้ฉีดวัคซีนไม่สามารถนำไปบริจาคได้ไม่จริง”

“โดยปกติ สีของเลือดแต่ละคนจะไม่ได้เป็นสีเดียวกัน ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนหรือไม่ก็ตาม”

Dr. PJ Utz ศาสตราจารย์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยาและโรคข้อวิทยา ผู้ดูแลห้องปฏิบัติการวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวกับ AFP ว่า: “สีของเลือดของแต่ละคนไม่มีความเกี่ยวของกับการฉีดวัคซีนแต่อย่างใด”

“สีของเลือดจะถูกกำหนดโดยปริมาณออกซิเจนในเลือด ซึ่งถือว่ามีตัวแปรสำคัญ”

“ถ้าคุณนำถุงเลือดมาเรียงกัน 15 ถุง คุณจะเห็นว่าสีแดงของแต่ละถุงจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลอะไร”

ผู้บริจาคเลือด

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้เผยแพร่แถลงการณ์ฉบับนี้ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด

“ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อและร่างกาย จะเปลี่ยนแปลงเป็นภูมิคุ้มกันเช่นเดียวกับวัคซีนชนิดอื่นๆ ซึ่งไม่ทำให้สีของโลหิตมีสีดำคล้ำ และเกิดการเปลี่ยนแปลงสีแต่อย่างใด”

Image
ภาพถ่ายหน้าจออินโฟกราฟิกของสภากาชาดไทย

แถลงการณ์ดังกล่าวยังอธิบายด้วยว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 “ไม่ได้เป็นตัวกำหนด” ว่าเลือดของผู้บริจาคสามารถนำไปใช้ได้หรือไม่

“ผู้บริจาคโลหิตต้องคัดกรองสุขภาพด้วยตนเองจากแบบสอบถาม และคัดกรองความเสี่ยงต่างๆ ที่สามารถถ่ายทอดทางโลหิตไปสู่ผู้ป่วยได้ จากบุคลากรทางการแพทย์ จากนั้นโลหิตทุกยูนิตจะถูกนำไปส่งตรวจคัดกรองคุณภาพโลหิตตามมาตรฐานทางห้องปฎิบัติการก่อนจ่ายให้กับโรงพยาบาล  เพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยต่อไป”

สภากาชาดอธิบายว่าผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถบริจาคโลหิตได้ โดยให้เว้นระยะเวลา 7 วันหลังการฉีดวัคซีน

แนวทางปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา อนุญาตให้คนที่ได้รับการฉีดวัคซีนบริจาคพลาสมาได้ในกรณีที่หายป่วยจากโรคดังกล่าวแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนไม่ได้ทำให้คนที่ได้รับวัคซีนขาดคุณสมบัติในการบริจาค

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับการบริจาคเลือดและพลาสมาของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่นี่และนี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา