ภาพนี้ถูกตัดต่อ -- ภาพต้นฉบับแสดง รัสเซล โครว์ ถือบัตรโดยสารรถไฟฟ้า

ลิขสิทธิ์ AFP 2560-2566 ขอสงวนลิขสิทธิ์
  

ขณะที่นักแสดงฮอลลีวูด รัสเซล โครว์ เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องใหม่ ภาพถ่ายหนึ่งถูกแชร์ออกไปทางสื่อสังคมออนไลน์โดยอ้างว่าเขากำลังถือซองผ้าป่าสามัคคี อย่างไรก็ตามภาพนี้ -- ซึ่งถูกแชร์โดยเพจที่ผลิตเนื้อหาล้อเลียนเสียดสี -- เป็นภาพตัดต่อ ภาพต้นฉบับแสดงโครว์ถือบัตรโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสของกรุงเทพฯ

ภาพถ่ายดังกล่าวถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564

ภาพดังกล่าวถูกนำเสนอว่านักแสดงชาวออสเตรเลียผู้ชนะรางวัลออสการ์  รัสเซล โครว์ (Russell Crowe) กำลังถือซองผ้าป่า หรือซองบริจาคให้แก่วัดไทย

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “ตาย ตาย ตาย ซองผ้าป่าก็มา เขามาถ่ายทำภาพยนต์ที่ ปทท.เรานะ”

“มาช่วยโปรโมทให้เมืองไทย ทำให้คนรู้จักเมืองไทย ไฉนนนนนนนน ถึงมีคนเอาซองผ้าป่าไปให้เขา โถ่ โถ่ โถ่เอ้ย ถ้าจะให้ซองช่วยพาเขาไปงานถอดผ้าป่า ไปดู ประเพณีไทยไม่ดีกว่าหรือ???!!? แล้วเขาจะช่วยด้วยใจเต็ม100 ได้ใจชาวต่างชาติอีกต่างหาก ขายหน้าจริง”

ตัวอักษรสีแดงด้านล่างภาพเขียนว่า “ได้เป็นประธาน”

“ประธาน” มักจะหมายถึงบุคคลที่มีผู้คนนับถือมากที่สุดในกลุ่มผู้บริจาค

ภาพถ่ายหน้าจอโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ออนไลน์ในขณะที่ โครว์ เดินทางมาประเทศไทยเพื่อถ่ายภาพยนตร์เรื่อง “The Greatest Beer Run Ever” บางกอกโพสต์รายงาน

ระหว่างที่เขาอยู่ในประเทศไทย โครว์ได้โพสต์ภาพถ่ายอย่างต่อเนื่องลงในทวิตเตอร์

ภาพถ่ายที่แสดงเขาถือซองสีขาว ได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ และทางทวิตเตอร์ที่นี่และนี่

ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้เข้ามาแสดงความเห็นใต้ภาพถ่าย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเชื่อว่าภาพถ่ายดังกล่าวเป็นภาพจริง

ผู้ใช้สื่อคนหนึ่งเขียนว่า “น้าแกคงงงนิดหน่อยอ่ะ ทำไมต้องเอาเงินใส่ให้”

อีกคนหนึ่งเขียนว่า “เดี๋ยวพวกมาอีกเป็นร้อย น่าจะได้หลายยศหลายตำแหน่ง”

อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายนี้ถูกตัดต่อ

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล พบภาพดังกล่าวปรากฏอยู่ในโพสต์นี้ของเพจเฟซบุ๊ก “Thailed Online” เมื่อวันที่ 24 คุลาคม 2564

“Thailed Online” ระบุว่าเพจเป็น “สื่อข่าวล้อเลียน” ในส่วนข้อมูลเกี่ยวกับเพจ

ภาพถ่ายหน้าจอส่วนข้อมูลเกี่ยวกับเพจเฟซบุ๊ก Thailed Online

เพจดังกล่าวตั้งชื่อเพื่อเลียนแบบหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐออนไลน์

การค้นหาภาพย้อนหลังพบภาพต้นฉบับถูกโพสต์ลงบัญชีทวิตเตอร์ทางการของ Allan McKinnon เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2564

ภาพต้นฉบับแสดงโครว์ถือบัตรรถไฟฟ้าบีทีเอส

คำบรรยายภาพในโพสต์ต้นฉบับ แปลเป็นภาษาไทยว่า “Lost in Bangkok กับ @russellcrowe! ผมอวยพรให้เขาพบกับสิ่งดีๆ ระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องใหม่ของเขา และในโอกาสนี้ได้มอบบัตรโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานทูตออสเตรเลีย ซึ่งจะสามารถช่วยเขาได้ถ้าเขาหลงทางในกรุงเทพฯ อีก”

 

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่ถูกตัดต่อ (ซ้าย) และภาพต้นฉบับ (ขวา):

เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่ถูกตัดต่อ (ซ้าย) และภาพต้นฉบับ (ขวา)

นอกจากนี้ในวันเดียวกัน ภาพถ่ายต้นฉบับได้ถูกแชร์ผ่านทางเพจเฟซบุ๊กของสถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย