เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกำลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์ให้กับนักเรียนหญิงชั้นมัธยมจากโรงเรียนประชานิเวศน์ ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ( AFP / LILLIAN SUWANRUMPHA)

โพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดแชร์คำกล่าวอ้างว่ายาทานต้านไวรัสสามารถทดแทนการฉีดวัคซีนโควิด-19

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 25 ตุลาคม 2021 เวลา 12:04
  • อัพเดตแล้ว วัน 26 ตุลาคม 2021 เวลา 04:33
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
คลิปวิดีโอซึ่งมียอดรับชมนับแสนครั้ง ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊ก ยูทูป และทวิตเตอร์พร้อมคำกล่าวอ้างว่ายาทานต้านไวรัสโมโนพิลาเวียร์ (molnupiravir) สามารถ “รักษา” โรคโควิด-19 และจะทำให้วัคซีนหมดความจำเป็น คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด แม้ว่าการทดลองทางคลินิกพบว่าโมโนพิลาเวียร์จะสามารถเป็นยารักษาโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ แต่ยาตัวนี้ยังไม่ได้ผ่านการอนุมัติโดยหน่วยงานสาธารณสุขหรือหน่วยงานด้านสุขภาพนานาชาติ ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2564 ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเตือนว่าไม่ควรนำยาดังกล่าวมาใช้แทนการฉีดวัคซีนโควิด-19

คลิปวิดีโอนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “จบเกมแล้วสำหรับไวรัสโควิด..ต่อไปก็เป็นแค่ตำนาน ยามาแล้ว ของเยอร์มัน โควิดหายใน 24 ชั่วโมง ใช้ทาน โมโนพิลาเวียร์ แบบนี้คนยกเลิกฉีดเป็นแถวแน่”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

.โพสต์ดังกล่าวได้แชร์คลิปวิดีโอความยาว 3 นาที ซึ่งแสดงแพทย์ท่านหนึ่งกำลังอธิบายหน้ากล้อง

คลิปวิดีโอดังกล่าวถูกตัดมาจากวิดีโอยูทูปที่ความยาวกว่า ซึ่งถูกเผยแพร่ในเดือนเมษายน 2564

วิดีโอดังกล่าวมีชื่อว่า “Molnupiravir ความหวังครั้งใหม่ เปลี่ยนเกมไวรัสโควิด (Game changing drug)”

คลิปวิดีโอต้นฉบับมียอดรับชมแล้วกว่า 480,000 ครั้ง

วิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่ทางช่องยูทูปที่มีชื่อว่า “Dr.V Channel

เจ้าของช่องดังกล่าวตรงกับเพจเฟซบุ๊กที่มีผู้ติดตามมากกว่า 101,000 คน โดยเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวมีชื่อว่า “คลินิกแพทย์วีระพันธ์ โรคสมองและระบบประสาท”

ในช่วงนาทีที่ 5:22 วิดีโอยูทูปแสดงภาพถ่ายหน้าจอของบทความที่ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ Healthworld.com ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือพิมพ์ Economic Times ของประเทศอินเดีย

บทความดังกล่าวเขียนพาดหัวว่า “งานวิจัย: ยาต้านไวรัส โมโนพิลาเวียร์ (molnupiravir) ป้องกันโควิด-19 ภายใน 24 ชั่วโมง”

ในคลิปวิดีโอที่ทำให้เข้าใจผิด แพทย์ในวิดีโอกล่าวถึงส่วนต่างๆ ในบทความ โดยอธิบายว่า “ยาตัวนี้จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมเลยนะ เป็นตัวเปลี่ยนเกมของไวรัสโควิดในอนาคตเลย ยาตัวนี้ชื่อโมโนพิลาเวียร์ นะครับ ยาตัวนี้เป็นยาที่ผลิตโดยบริษัท Merck นะครับ ของเยอรมัน เป็นยากินนะครับ ปรากฏว่ายาตัวนี้ผ่านเฟสสองไปแล้วนะครับ ข้อดีของยาคือหลังคนไข้กินยาไปภายใน 24 ชั่วโมงเท่านั้น การติดเชื้อจากคนนี้ไปอีกคน หมดไปเลยนะครับ”

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ และทางทวิตเตอร์ที่นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด

“ไม่สามารถใช้แทนวัคซีน”

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่างานวิจัยเบื้องต้นของยาโมโนพิลาเวียร์ในการรักษาอาการที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นั้นมีผลที่น่าพึงพอใจ

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 Merck ได้ขอยื่นการใช้ยาโมโนพิลาเวียร์ ในกรณีฉุกเฉินสหรัฐฯ สำนักข่าว AFP รายงาน

อย่างไรก็ตาม บริษัทผลิตยาดังกล่าว ไม่ได้ระบุว่ายาตัวนี้จะสามารถกำจัดโรคโควิด-19 ได้ และไม่ได้กล่าวว่ายาดังกล่าวจะสามารถนำมาใช้แทนวัคซีนได้

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายกับ AFP ว่า: “ประชาชนควรรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพราะจะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยอาการรุนแรง และลดอัตราการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น”

“แต่เราจะใช้ยาโมโนพิลาเวียร์ เมื่อเราติดเชื้อโควิด-19 แล้ว” เขากล่าว

ศาสตรจารย์ Peter Hotez คณบดีโรงพยาบาลเด็กเท็กซัส กล่าวในโพสต์ทางทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ว่ายาชนิดดังกล่าว “ไม่ใช่ยามหัศจรรย์ และไม่สามารถนำมาใช้แทนวัคซีน”

การศึกษาใช้ตัวเฟร์ริตทดลอง

คลิปวิดีโอที่ทำให้เข้าใจผิดได้กล่าวถึงบทความฉบับนี้ของ Healthworld.com ซึ่งถูกเผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2563

บทความดังกล่าวอ้างถึงงานวิจัยของมหาวิทยาลัยรัฐจอร์เจียของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการวิจัยการใช้ยาโมโนพิลาเวียร์ในการรักษาตัวเฟร์ริต (Ferret) -- ไม่ใช่ในมนุษย์

เนื้อหาบางส่วนของรายงานแปลเป็นภาษาไทยว่า “ถ้าข้อมูลชุดดังกล่าวในการวิจัยในเฟร์ริต มีผลลัพธ์เดียวกันเมื่อนำมาใช้กับมนุษย์ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาจะไม่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ ภายใน 24 ชั่วโมงหลังการรักษา”

เนื้อหาเดียวกัน ปรากฏอยู่ในบทความฉบับนี้ ซึ่งถูกเผยแพร่โดยมหาวิทยาลัยรัฐจอร์เจีย เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2563

บทความดังกล่าวของมหาวิทยาลัย อ้างอิงคำพูดของ Dr. Robert Cox หนึ่งในผู้เขียนงานวิจัยดังกล่าว โดยเขาอธิบายถึงเหตุผลในการใช้ตัวเฟร์ริตในการวิจัยดังกล่าว

“เราเชื่อว่าเฟร์ริตสามารถเป็นตัวอย่างการจำลองที่ดีได้ เนื่องจากพวกมันสามารถแพร่เชื้อ SARS-CoV-2 แต่ไม่ได้มีอาการที่รุนแรง ซึ่งมีความคล้ายกับการแพร่เชื้อของ SARS-CoV-2 ในกลุ่มคนหนุ่มสาว”

นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า “เฟร์ริตมักถูกใช้เป็นตัวอย่างแทนมนุษย์ในการศึกษาเกี่ยวกับโรคโควิด-19 แต่ก็ถือว่าเป็นการศึกษาขั้นต้นเท่านั้น”

ตั้งแต่มีการใช้สัตว์ในการทดลองทางคลินิกของยาโมโนพิลาเวียร์ การทดลองทางคลินิกกับมนุษย์ได้บ่งชี้ว่าตัวยาสามารถใช้เป็นยารักษาโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพได้

AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันเกี่ยวกับยาโมโนพิลาเวียร์ มาแล้วที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา