ผู้หญิงใส่หน้ากากอนามัยเดินผ่านม้านั่งซึ่งเขียนข้อความการเว้นระยะห่างทางสังคมในสวนลุมพินี หลังการผ่อนปรนมาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (AFP / Romeo Gacad)

ธนาคารแห่งประเทศไทยยืนยันว่าไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลสถิติเรื่องคนไทยเมื่อถึงวัยเกษียณ

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 29 พฤษภาคม 2563 เวลา 09:15
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
โพสต์จำนวนมากได้ถูกแชร์ออกไปหลายหมื่นครั้งทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และบนเว็บไซต์ข่าวพร้อมกล่าวอ้างว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้เผยแพร่สถิติค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของกลุ่มคนวัยเกษียณในประเทศไทย คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ โฆษกประจำธนาคารแห่งประเทศไทยยืนยันกับ AFP ว่าธนาคารกลางไม่ได้เก็บหรือเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว

คำกล่าวอ้างได้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2562 และได้ถูกแชร์ออกไปมากกว่า 11,000 ครั้ง

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด

Image
Screenshot of the misleading post.

ข้อความบางส่วนเขียนว่า “ข้อมูลสถิติจากธนาคารแห่งประเทศไทยอ่านแล้วน่าตกใจจัง ….

1.คนทั่วไปเป็นอย่างไร?
เมื่อถึงวัยเกษียณ
1%. = ร่ำรวย เป็นเศรษฐี
4%. = มีเงินใช้สุขสบาย
7%. = พอช่วยเหลือตัวเองได้
40% = ต้องพึ่งพาลูกหลาน สถานสงเคราะห์
48% = ยังคงต้องดิ้นรน ทำงานหนักแม้จะแก่แล้ว

2.ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต คนไทย
ค่าอาหาร / 1คน
1วัน 3 มื้อ
1ปี 3x365 วัน = 1,095 มื้อ
30ปี 30x1,095= 32,850 มื้อ

- ถ้ากินมื้อละ 30 บาท ต้องใช้เงิน = 985,500 บาท
- ถ้ากินมื้อละ 50 บาท ต้องใช้เงิน = 1,642,500 บาท”

ข้อความชุดเดียวกันได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่และนี่ ทางทวิตเตอร์ที่นี่ ทางอินสตาแกรมที่นี่ และเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ที่นี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นเท็จ ธนาคารแห่งประเทศไทยยืนยันกับสำนักข่าว AFP ว่าข้อมูลสถิติดังกล่าวไม่ได้มาจากการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทย

สุรีรัตน์ ลัคนานิตย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการสื่อสารองค์กรของธนาคารแห่งประเทศไทยอธิบายกับสำนักข่าว AFP ทางอีเมลเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ว่าข้อมูลสถิติดังกล่าวไม่ได้มาจากธนาคารแห่งประเทศไทย

เธอกล่าวว่า “สถิติที่ถูกโพสต์ลงสื่อสังคมออนไลน์ที่กล่าวอ้างว่าเป็นข้อมูลที่มาจากธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นไม่เป็นความจริง เราไม่เคยประมวลข้อมูลสถิติชุดนี้”

สำนักข่าว AFP ได้นำคำสำคัญมาค้นหาในส่วนสถิติบนเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตเมื่อถึงวัยเกษียณ

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา