คำกล่าวอ้างเท็จถูกแชร์ใหม่ว่ามีการปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 100 บาท
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 28 พฤษภาคม 2020 เวลา 10:00
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ได้ถูกส่งต่อเป็นข้อความทางไลน์เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2563
ข้อความเขียนว่า “ใครมีพ่อแม่พี่น้อง ที่รับเบี้ยผู้สูงอายุ อย่าลืมบอกคนเหล่านั้น ให้ดำเนินการนะคะ
ปรับเบี้ยผู้สูงอายุ ทุกคนให้ไปรายงานตัวที่เขตด่วน พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง
(*)ใครรับเงินเบี้ยยีงชีพผู้สูงอายุ ภายในเดือนตค.นี้ให้ไปที่ อบต.หรือที่ทำการเขตเพื่อรายงานตัวว่ายังมีชีวิตอยู่
(*)นำสำเนา บัตรประชาชน
(*)ทะเบียนบ้าน
(*)และสำเนาบุคแบงค์ที่โอนเงินเข้า ไป
(*)(*)ถ้าไม่ไปรายงานปีงบประมาณหน้าเงินจะไม่เข้าบัญชี
(*)จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบค่ะ
อายุ 60 เพิ่มเป็น 700
70 “ 800
80 “ 900
90 “ 1,000
เอาสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านไปด้วย ค่ะ ฝากบอกต่อกันด้วยนะคะ”
คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ นี่และนี่
คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ
นางตะติยา ไกรศรศรี นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ ของกรมกิจการผู้สูงอายุให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP ทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 โดยยืนยันว่า “ไม่ได้มีการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามที่โพสต์นั้นอ้าง ปัจจุบัน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุยังคงใช้อัตราเดิมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 และเป็นอัตราขั้นบันไดตามช่วงอายุ”
นางตะติยายืนยันด้วยว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายเดือนยังคงอยู่ที่ 600 บาทสำหรับผู้ที่มีอายุ 60-69 ปี 700 บาทสำหรับผู้ที่มีอายุ 70-79 ปี 800 บาทสำหรับผู้ที่มีอายุ 80-89 ปี และ 1,000 บาทสำหรับผู้ที่มีอายุ 90 ปีขึ้นไป รายละเอียดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปรากฏอยู่ในเอกสารราชการฉบับนี้ของรัฐสภา
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยืนยันผ่านโพสต์ทางเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ว่าคำกล่าวอ้างเรื่องการปรับขึ้นอัตราเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายเดือนเป็น “ข่าวปลอม”
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา