เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเตือน ‘กาแฟลดน้ำหนัก’ ที่โฆษณาในไทยและเมียนมา ผิดกฎหมายและเป็นสินค้าอันตราย

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 20 ธันวาคม 2022 เวลา 09:13
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ผู้ใช้เฟซบุ๊กในประเทศไทยและเมียนมาได้แชร์โพสต์ที่อวดอ้างสรรพคุณของกาแฟ ‘Vitaccino’ ว่าสามารถช่วยลดความอ้วน ลดความอยากอาหาร และช่วยดูดซึมสารอาหารได้ อย่างไรก็ตามหน่วยงานด้านอาหารและยาในสหรัฐอเมริกาเตือนว่าสินค้าดังกล่าวมีอันตรายต่อผู้ที่มีประวัติเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแถลงว่าสินค้าดังกล่าวเป็นของผิดกฎหมาย

โพสต์ที่อวดอ้วงสรรพคุณของสินค้าตัวนี้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565

คำบรรยายภาพระบุว่า กาแฟ Vitaccino “ช่วยลดความอยากอาหาร ช่วยไม่ให้ทานจุกจิก

มีส่วนผสมของกระบองเพชร ถั่วขาว ทำให้ทานน้อยลง ช่วยให้ระบบเผาผลาญดี น้ำหนักลด สัดส่วนกระชับ”

โพสต์โฆษณาสินค้าที่คล้ายๆ กันถูกแชร์ที่นี่ นี่และนี่ และในประเทศเมียนมาที่นี่

Image
ภาพบันทึกหน้าจอโพสต์อ้วดอ้างสรรพคุณกาแฟ Vitaccino บันทึกหน้าจอเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2565

นอกจากนี้ ในแพลตฟอร์มร้านค้าปลีก-ส่งออนไลน์ชื่อดังของไทยทั้ง Shopee และ Lazada ต่างจำหน่ายสินค้าแบรนด์ Vitaccino พร้อมรับประกันว่าเป็นสินค้าจริงและมีเลขสารบบอาหาร 13 หลัก จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับรอง

ขณะที่บางโพสต์อ้างว่าเป็นสินค้านำเข้าจึงไม่มีเลข อย.

คอมเมนต์บนเฟซบุ๊กในโพสต์โฆษณากาแฟ Vitaccino จำนวนหนี่งสะท้อนว่าผู้อ่านจำนวนไม่น้อยเชื่อในสรรพคุณเกินจริงของสินค้าดังกล่าว

ผู้ใช้งานส่วนหนึ่งระบุว่าพวกเขา “สนใจ” สินค้า

“จะลองกินตัวนี้ลองกูละกัน” หนึ่งในผู้ใช้งานคอมเมนต์

ขณะที่คอมเมนต์อื่นๆ เป็นการสอบถามราคาของสินค้าดังกล่าว “ฉันต้องการบ้าง ราคาเท่าไหร่”

อย่างก็ตาม สรรพคุณด้านสุขภาพของกาแฟ Vitaccino เป็นคำกล่าวอ้างเท็จ ขณะที่ตัวสินค้าไม่ผ่านการรับรองจาก อย.ประเทศไทย

คำเตือนด้านสุขภาพ

องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) เคยออกประกาศเตือนเกี่ยวกับกาแฟ Vitaccino เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2557

ประกาศระบุว่า “FDA ไม่แนะนำผู้บริโภคซื้อหรือดื่มกาแฟ Vitaccino” เนื่องจากห้องวิจัยตรวจพบสารไซบูทรามีน ซึ่งเป็นสารควบคุมที่ถูกถอดออกจากตลาดเมื่อเดือนตุลาคม 2553 จากความเสี่ยงด้านความปลอดภัย

โฆษกของ FDA กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ว่า “สินค้าดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้บริโภค เนื่องจากไซบูทรามีนมีฤทธิ์เพิ่มความดันเลือด และ/พรือ เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจในผู้ป่วยบางคน”

“ไซบูทรามีนยังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือโรคหลอดเลือดสมอง”

โฆษกจาก FDA ยังเสริมว่ากาแฟ Vitaccino “ยังอาจส่งผลให้เกิดภาวะที่เสี่ยงต่อชีวิต” เมื่อเข้าไปทำปฏิกิริยากับยาชนิดอื่น ๆ ที่ผู้บริโภครับประทานเข้าไป

ในเดือนพฤษภาคม ปี 2564 Dash Xclusive ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตกาแฟ Vitaccino ในสหรัฐฯ ได้ประกาศเรียกคืนสินค้าทั้งหมดในสหรัฐฯ

ผิดกฎหมายในไทย

ด้านผู้ดูแลระบบของบัญชีเฟซบุ๊ก FDA Thai กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า Vitaccino เป็นสินค้า “ผิดกฎหมาย” และไม่ได้รับการรับรองในไทย

อย.ออกแถลงเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ว่า “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ อย. แถลงผลการสอบสวนการขายเครื่องสำอาง อาหาร และยาที่ผิดกฎหมายในย่ายปทุมวัน โดยมีมูลค่ารวมมากกว่า 200,000 บาท”

กาแฟ Vitaccino ถูกจัดอยู่ในประเภท “อาหารเสริมที่ไม่มีเลขสารบบอาหาร” ตามข้อมูลจากรายงานดังกล่าว

แถลงการณ์ดังกล่าวของอย.ถูกโพสต์ลงในเพจเฟซบุ๊กของอย.โดยในนาทีที่ 11:36 มีกาแฟ Vitaccino ร่วมอยู่ในกลุ่มสินค้าผิดกฎหมายด้วย

ในคลิปวิดีโอดังกล่าวเจ้าหน้าที่อธิบายว่า Vitaccino เป็นสินค้าที่มีฉลากปลอมและบิดเบือน เนื่องจากไม่ได้มีเลขสารบบอาหารทีได้รับการรับรองจากอย.

“ก่อนหน้านี้ เราส่งรายงานการตรวจสอบไปให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และพบว่าสินค้าเหล่านี้มียาชนิดหนึ่งที่่อยู่ในประเภทวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทที่ 1 ซึ่งมีชื่อว่าไซบูทรามีน นี่เป็นเรื่องอันตราย”

Fact Crescendo เว็บไซต์ตรวจสอบข้อเท็จจริงอิสระในประเทศเมียนมา เผยแพร่รายงานการตรวจสอบสรรพคุณของกาแฟ Vitaccino โดยกล่าวว่าเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา