ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ชี้ 'น้ำมะพร้าว' ไม่ส่งผลต่ออวัยวะเพศเด็กแรกเกิด
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 20 ธันวาคม 2022 เวลา 08:25
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: Panisa AEMOCHA, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดนี้ถูกโพสต์บนเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเพจซึ่งอ้างว่าเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กนั้นเป็นพยาบาล
โพสต์ดังกล่าวระบุว่า: “หมอเตือน! แม่ท้องดื่มน้ำมะพร้าวเยอะทำให้ลูกชายจุ๊ดจู๋เล็ก ลูกสาวจิ๊มิใหญ่ เพราะรับฮอร์โมนเพศหญิงระหว่างตั้งครรภ์มากเกินไป”
โพสต์ดังกล่าวนี้มีผู้แชร์ไปมากกว่า 1,700 ครั้ง ทั้งยังมีโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดคล้ายคลึงกันถูกแชร์ที่นี่ นี่และนี่
คอมเมนต์บางส่วนในโพสต์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีผู้คนจำนวนหนึ่งเชื่อว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นความจริง ขณะที่ผู้ใช้อีกกลุ่มหนึ่งมีความสับสน
คอมเมนต์หนึ่งระบุว่า “นี่เป็นเรื่องจริง ฉันตลอดลูกพร้อม ๆ กับแม่อีกคนนึง ลูกสาวของเธอมีอวัยวะเพศใหญ่กว่าลูกสาวของฉันมาก เพราะแม่คนนั้นดื่มน้ำมะพร้าวประจำ”
“นี่มันจริงมากๆ ฉันเห็นมากกับตาจากลูกสามคน คนแรกกินนิดหน่อย คนที่สองกับคนที่สามกินเยอะ รู้เลยว่าต่างกันจริง” ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กอีกคนหนึ่งคอมเมนต์
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์หลายคนยืนยันกับ AFP ว่า คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เกิดความเข้าใจผิด
ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
“ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นผลกระทบทางลบจากการดื่มน้ำมะพร้าวขณะตั้งครรภ์” Annette Creedon ผู้จัดการด้านโภชนาการจากมูลนิธิโภชนาการอังกฤษ กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565
ขณะที่นักวิทยาศาสตร์การอาหารอย่าง Kantha Shelke ซึ่งเป็นอาจารย์อาวุโสแห่งมหวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ในสหรัฐอเมริกาเสริมว่า น้ำมะพร้าวมีสารประกอบที่ชื่อว่า ‘ไฟโตเอสโตรเจน’ (phytoestrogen) ซึ่งเป็นสารประกอบที่พบได้ในพืชหลายชนิดและมีคุณสมบัติคล้ายกับเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง
ทั้งนี้ Shelke อธิบายต่อว่าสารไฟโตเอสโตรเจนที่พบในน้ำมะพร้าวไม่ได้ส่งผลให้ขนาดอวัยวะเพศของเด็กแรกเกิดมีความผิดปกติ
“ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่าไฟโตเอสโตรเจนในน้ำมะพร้าวจะลดหรือเพิ่มขนาดอวัยวะเพศได้” Shelke ตอบ AFP เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565
ด้าน Creedon กล่าวว่า “ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนของผู้หญิงถือว่าสูงอยู่แล้วขณะตั้งครรภ์ ด้วยเหตุนี้ ปริมาณโฟโตเอสโตรเจนจำนวนน้อยในน้ำมะพร้าวจึงแทบไม่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญเมื่อนำมาเทียบกัน”
พ.ญ.จันทรัศม์ สุรัตนกวีกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา และอนุสาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ จากโรงพยาบาลสมิติเวช กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ว่า สตรีตั้งครรภ์สามารถดื่มน้ำมะพร้าวได้อย่างปลอดภัย เมื่อทานในปริมาณที่พอดี
AFP ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับประเด็นด้านสุขภาพในประเทศไทยแล้วเช่นนี่ นี่ และนี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา