ภาพพิธีอุปสมบทของณเดชณ์ในปี 2558 ถูกแชร์ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 27 ธันวาคม 2022 เวลา 08:13
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ภาพถ่ายเก่าของณเดชน์ คูกิมิยะ นักแสดงชายชื่อดังของไทยขณะเข้าพิธีอุปสมบท ถูกแชร์ในหลายโพสต์ทางเฟซบุ๊กพร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าณเดชณ์ปลงผมบวชเพื่อถวายแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ หลังจากที่ทรงเข้ารับการรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาล ในเดือนธันวาคม 2565 อย่างไรก็ตามตัวแทนจากบริษัทต้นสังกัดของณเดชน์ชี้แจงว่าคำกล่าวอ้างนี้เป็น “ข่าวปลอม” ขณะที่โพสต์ดังกล่าวใช้รูปจากพิธีอุปสมบทของณเดชณ์ในปี 2558

คำบรรยายภาพของโพสต์เขียนว่า “ณเดชณ์ ขอบวชถวายแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ทุกคนร่วมส่งพลังจิตอวยพรให้ พระองค์ภาฯ หายประชวรโดยเร็วๆด้วยเทอญ ทุกคนร่วมอนุโมทนาบุญในครั้งนี้ด้วยนะครับ” โพสต์นี้เริ่มเผยแพร่เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2565

คำกล่าวอ้างนี้ถูกแชร์โดยเพจเฟซบุ๊กที่มีผู้ติดตามมากกว่า 50,000 บัญชี ขณะที่โพสต์ดังกล่าวมีผู้กดไลก์สูงถึง 23,000 ครั้ง และถูกแชร์อีกกว่า 2,000 ครั้ง

โพสต์ดังกล่าวได้แชร์ภาพถ่ายทั้งหมด 3 รูป ได้แก่ รูปถ่ายของ “พระองค์ภา” พร้อมอีกสองภาพของณเดชน์ขณะปลงผมในพิธีอุปสมบท

ประโยคสุดท้ายของคำบรรยายในโพสต์เท็จเขียนว่า: “ใจดำจังที่เลื่อนผ่านภาพนี้แล้วไม่ยอมอวยพรให้ พระองค์ภาสักที่”

Image
ภาพบันทึกหน้าจอโพสต์ปลอม บันทึกเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2565

โพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกสู่โลกออนไลน์หลังจากที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงพระประชวรหมดพระสติด้วยอาการทางพระหทัยระหว่างทรงทำการฝึกสุนัขทรงเลี้ยง ณ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีม และทรงเข้ารับการรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 สำนักข่าว AFP รายงาน

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปในประเทศไทยว่า “พระองค์ภา” ปัจจุบันมีพระชนมพรรษา 44 พรรณา และเป็นบุตรเพียงคนเดียวในสมรสแรกของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตามแถลงการณ์สำนักพระราชวัง นับจนถึงวันที่ 19 ธันวาคม ‘พระองค์ภา’ ยังประทับรักษาพระองค์อยู่ที่โรงพยาบาล

คำกล่าวอ้างเดียวกันถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กอย่างต่อเนื่องที่นี่และนี่

หลายคอมเมนต์ในช่วงที่โพสต์ปลอมดังกล่าวถูกแชร์ออกไปแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กส่วนหนึ่งเชื่อว่าคำกล่าวอ้างในโพสต์เป็นความจริง

ผู้ใช้งานจำนวนเขียนคอมเมนต์ว่า “ร่วมอนุโมทนาบุญ” กับการบวชครั้งนี้ของณเดชณ์

ผู้ใช้งานคนหนึ่งเขียนคอมเมนต์ว่า “นี่คือคนดีที่ชาติต้องการ”

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนจากบริษัทต้นสังกัดของณเดชน์บอก AFP เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 ว่าโพสต์ดังกล่าวนี้เป็น “ข่าวปลอม”

ภาพพิธีอุปสมบทเก่า

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล พบว่าภาพของณเดชน์ชุดนี้ ถูกเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2558

หนึ่งในภาพที่อยู่ในโพสต์เท็จนั้นถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ข่าวภาษาอังกฤษ Coconuts Bangkok เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558

บทความดังกล่าวระบุว่า ณเดชน์ “บวชเป็นพระที่จังหวัดอุดรธานี” ณ วัดนาหลวง พร้อมกับพระใหม่อีก 809 รูป

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์ปลอม (ซ้าย) และภาพที่ถูกเผยแพร่ทางเว็บไซต์ Coconuts Bangkok (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างรูปในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (บนซ้าย) กับภาพถ่ายจากเว็บไซต์ Coconuts Bangkok (ขวา)

นอกจากนี้การค้นหาด้วยคำสำคัญยังพบรายงานข่าวจำนวนมากเกี่ยวกับพิธีการอุปสมบทของณเดชน์ในปี 2558

สื่อไทยทั้งไทยรัฐ ผู้จัดการออนไลน์ และไนน์เอ็นเตอร์เทน รายงานข่าวพิธีอุปสมบทของณเดชณ์ในวันที่ 1 ธันวาคม 2558 ซึ่งเป็นวันที่ณเดชน์เข้าพิธีอุปสมบท และเริ่มศึกษาพระธรรมเป็นเวลา 15 วัน

AFP ไม่พบรายงานข่าวการบวชของณเดชณ์ในเดือนธันวาคม 2565

อีกหนึ่งภาพที่อยู่ในโพสต์ปลอมถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ Kapook.com

ด้านล่างการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากเว็บไซต์ Kapook.com (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากเว็บไซต์ Kapook.com (ขวา)


เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2565 บัญชีอินสตาแกรมที่ได้รับการยืนยันตัวตนของณเดชน์ ได้เผยแพร่ภาพถ่ายพร้อมกับวิดีโอของเขาขณะกำลังเฉลิมฉลองวันคริสต์มาสกับครอบครัว

View this post on Instagram

A post shared by Nadech Kugimiya (@kugimiyas)

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา