คลิปวิดีโอเก่าถูกจำลองขึ้นโดยใช้คอมพิวเตอร์ ไม่ใช่วิดีโอ “พลุไฟต้อนรับฤดูหนาวของญี่ปุ่น” ในช่วงปีใหม่ 2566

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 4 มกราคม 2023 เวลา 10:03
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: Panisa AEMOCHA, AFP ประเทศไทย
ขณะที่ผู้คนทั่วโลกต่างเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ 2566 ด้วยการจุดดอกไม้ไฟอย่างอลังการ วิดีโอหนึ่งได้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กในประเทศไทย โดยมียอดรับชมหลายแสนครั้ง โพสต์ดังกล่าวระบุว่าคลิปนี้เป็นการแสดง “พลุไฟต้อนรับฤดูหนาวของประเทศญี่ปุ่น” คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ AFP พบว่าวิดีโอต้นฉบับถูกเผยแพร่ทางยูทูปในปี 2556 และเป็นวิดีโอดอกไม้จำลองที่สร้างในโปรแกรมคอมพิวเตอร์

คำบรรยายของโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2566 เขียนว่า “เช้านี้มีคนส่งคลิปนี้มาบอกว่าเป็นพลุญี่ปุ่นต้อนรับฤดูหนาว”

“[พลุ]สวยสุดๆ ไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร ดูแล้วต้องบอกว่าสวยจริงๆ เลยต้องส่งต่อให้ทุกคนดูในช่วงยังปีใหม่”

วิดิโอที่มีความยาว 1.46 นาที แสดงพลุหลากสี ที่ปะทุอยู่บนท้องฟ้าในเวลากลางคืน พร้อมเพลงประกอบ

คลิปวิดีโอดังกล่าวมียอดรับชมแล้วสูงกว่า 900,000 ครั้ง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

คลิปวิดีโอดังกล่าวถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเดียวกันทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ และนี่

คำกล่าวอ้างนี้ถูกแชร์ในช่วงที่ทั่วโลกจัดกิจกรรมการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ 2566 ด้วยการแสดงดอกไม้ไฟ

คอมเมนต์ใต้โพสต์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าผู้คนจำนวนมากเชื่อว่านี่เป็นพลุจริงจากญี่ปุ่น

“สวยมากจริงๆ สุขสันต์วันปีใหม่” คอมเมนต์หนึ่งระบุ

ผู้ใช้งานอีกคนหนึ่งกล่าวว่า “พลุต้อนรับฤดูหนาว ของญี่ปุ่นสวยสุดๆ ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร หาดูที่ไหนไม่ได้ในโลกนี้”

อย่างไรก็ตามคำกล่าวอ้างที่ระบุว่า พลุดังกล่าวมาจากญี่ปุ่น เป็นคำกล่าวอ้างเท็จ

ดอกไม้ไฟที่สร้างโดยคอมพิวเตอร์

การค้นหาภาพย้อนหลังด้วย Google พบวิดิโอต้นฉบับถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2556 ทางยูทูป

คลิปความยาว 1:46 นาทีดังกล่าวมีชื่อว่า “New Years 2013 - Synchronized Epic Music (Heart of Courage) - FWSim Fireworks Display - HD”

FWsim คือโปรแกรมสร้างดอกไม้ไฟจำลองที่เปิดให้ผู้ใช้งานสามารถจำลองการจัดแสดงดอกไม้ไฟเสมือนจริงขึ้นมาได้

คำบรรยายภาษาอังกฤษของวิดีโอยูทูปต้นฉบับแปลเป็นภาษาไทยว่า “เราทุกคนทำได้ เราอยู่รอดปลอดภัยมาถึงปี 2556 และผมต้องการร่วมเฉลิมฉลองต่อด้วยการแชร์การแสดงพลุไฟนี้ที่ผมสร้างให้เป็นจริงขึ้นมา”

คำบรรยายวิดีโอเขียนต่อว่า “ซอฟต์แวร์สุดยอดเยี่ยมที่ใช้เพื่อการผลิต [การแสดงพลุจำลองนี้] คือ FWSim”

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างวิดีโอเท็จในโพสต์เฟซบุ๊ก (ซ้าย) และวิดีโอยูทูปต้นฉบับ (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างวิดีโอเท็จในโพสต์เฟซบุ๊ก (ซ้าย) และวิดีโอยูทูปต้นฉบับ (ขวา)

เจ้าของช่องยูทูบที่โพสต์วิดีโอต้นฉบับใช้ชื่อบัญชีว่า “mediabyjj” ซึ่งเขายังแชร์วิดีโอการแสดงพลุเสมือนอื่น ๆ ซึ่งสร้างโดย FWSim เช่นในคลิปนี้

ก่อนหน้านี้ AFP ได้คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันที่ถูกแชร์ในประเทศเกาหลีใต้ว่าคลิปวิดีโอเดียวกันคือการแสดงพลุไฟในกรุงโซล

ในรายงานดังกล่าว Lukas Trötzmüller ผู้ก่อตั้งบริษัท FWsim ได้กล่าวกับ AFP ว่าวิดีโอดังกล่าวถูกสร้างขึ้นด้วยซอฟต์แวร์จำลองของเขาจริง

“เรื่องนี้พิสูจน์ได้ด้วยการดูที่ภาพพื้นหลัง ซึ่งมันเป็นหนึ่งในภาพพื้นหลังสามมิติที่รวมอยู่ในโปรแกรม” เขาตอบ AFP ผ่านทางอีเมลเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564

AFP ได้ตรวจสอบกล่าวอ้างผิด ๆ เกี่ยวกับการแสดงดอกไม้ไฟที่จำลองผ่านการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ตัวเดียวกัน โดยคำกล่าวอ้างระบุว่าดอกไม้ไฟจำลองนี้เป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา