ภาพสัตว์ประสบภัยจากน้ำท่วม ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุโจมตีเขื่อนในประเทศยูเครน

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 13 มิถุนายน 2023 เวลา 09:12
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ภายหลังเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศยูเครนถูกโจมตีและส่งผลให้มวลน้ำปริมาณมหาศาลไหลทะลักสู่พื้นที่ใต้เขื่อน ภาพถ่ายเก่าชุดหนึ่งได้ถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์และในรายงานข่าวในบริบทที่เป็นเท็จ โดยภาพเก่าเหล่านี้ที่แสดงให้เห็นสุนัขและปศุสัตว์ประสบภัยน้ำท่วม ไม่ได้เป็นภาพจากประเทศยูเครน แต่เป็นภาพถ่ายจากเหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย ออสเตรเลีย และรัสเซีย

คำบรรยายโพสต์ทางทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 เขียนว่า “สัตว์เลี้ยงจำนวนมากต้องเผชิญชะตากรรมลอยคอหนีน้ำทะลักหลังจากเขื่อนยักษ์ในเขต Kherson ของยูเครนถูกถล่มโจมตี”

“ยูเครนชี้เป็นฝีมือรัสเซีย รัสเซียปฏิเสธ!”

ข้อมูล ณ วันที่ 6 มิถุนายน สถานการณ์น้ำท่วมที่เป็นผลกระทบมาจากเหตุระเบิดที่เขื่อน Kakhovka ทางภูมิภาค Kherson ฝั่งเจ้าหน้าที่ยูเครนกล่าวว่าพบผู้เสียชีวิต 7 ราย และยังมีผู้สูญหายอีกกว่า 35 คน ซึ่งรวมไปถึงเด็ก 7 คน (ลิงค์บันทึก)

ทางด้านยูเครนและรัสเซียต่างกล่าวหาอีกฝ่ายว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการระเบิดเขื่อน (ลิงค์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ทวิตเตอร์ที่ทำให้เข้าใจผิด

ภาพถ่ายเหล่านี้ถูกแชร์ในโพสต์คล้ายๆ กันทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็นภาพถ่ายของสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุโจมตีดังกล่าว

นอกจากนี้ สื่อท้องถิ่นในประเทศยูเครนยังได้นำเสนอภาพดังกล่าวในการรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดจากการโจมตีเขื่อนด้วย เช่น ที่นี่ นี่และนี่

ภาพสุนัขจากประเทศไทย (2565)

การค้นหาภาพย้อนหลังและการค้นหาด้วยคำสำคัญทางกูเกิล พบว่าภาพฝูงสุนัขที่ว่ายอยู่ในน้ำ เป็นภาพที่ถ่ายในประเทศไทย

มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย เป็นมูลนิธิที่ช่วยเหลือสุนัขและแมวจรจัด โดยภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ลงในเพจเฟซบุ๊กของมูลนิธิ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2565 โดยเป็นโพสต์เกี่ยวกับสุนัขและแมวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย (ลิงค์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ต้นฉบับทางเฟซบุ๊กของมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย

ภาพถ่ายเดียวกันถูกเผยแพร่อยู่ในบทความฉบับนี้ที่รายงานเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือสัตว์ที่ประสบภัยจากน้ำท่วมทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยในปี 2565 (ลิงค์บันทึก)

ชุติมา ศรีสว่าง ตัวแทนฝ่ายประชาสัมพันธ์ของมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย ยืนยันว่าทีมงานของมูลนิธิเป็นคนถ่ายภาพดังกล่าวในวันที่ 10 ตุลาคม 2565

“คนที่ถ่ายรูปน้องหมาลอยคอจะเป็นทีมของซอยด๊อกที่ลงพื้นที่ที่จังหวัดอุบลราชธานีค่ะ” เธอกล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับ AFP ในวันที่ 7 มิถุนายน 2566

ภาพวัวจากออสเตรเลีย (2565)

การค้นหาภาพย้อนหลังและการค้นหาด้วยคำสำคัญทางกูเกิลพบภาพถ่ายของวัวในรายงานข่าวน้ำท่วมในประเทศออสเตรเลียในปี 2565

ในรายงานข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ในเดือนมีนาคม 2565 เขียนอธิบายเหตุการณ์ว่าเกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของประเทศออสเตรเลีย และมวลน้ำทำให้พื้นที่เกษตรที่เลี้ยงปศุสัตว์ได้รับความเสียหาย (ลิงค์บันทึก)

ภาพถ่ายของวัวเขียนระบุว่าเป็นภาพถ่ายของช่างภาพรอยเตอร์ชื่อ Loren Elliot

คำบรรยายภาพเขียนว่า “สภาพความเป็นอยู่ปศุสัตว์ขณะที่น้ำท่วมสูงขึ้นในย่านชานเมืองวินด์เซอร์ และรัฐนิวเซาท์เวลส์ก็เผชิญกับน้ำท่วมเป็นวงกว้างท่ามกลางสภาพอากาศเลวร้ายในซิดนีย์ ออสเตรเลีย 22 มีนาคม 2564 REUTERS/Loren Elliott”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของภาพถ่ายต้นฉบับที่ถูกเผยแพร่ในรายงานข่าวของรอยเตอร์

ภาพสุกรจากไซบีเรีย (2562)

การค้นหาภาพย้อนหลังด้วยเครื่องมือค้นหา Yandex ของรัสเซีย พบภาพที่สาม ในบทความฉบับนี้ของ Amuskaya Pravada หนังสือพิมพ์ออนไลน์ในรัสเซีย โดยเป็นรายงานที่เผยแพร่ในเดือนกรกฎาคม 2562 (ลิงค์บันทึก)

บทความดังกล่าวได้รายงานเกี่ยวกับอุทกภัยในภูมิภาคอามูร์ ทางภาคตะวันออกของประเทศรัสเซีย และระบุว่าภาพถ่ายดังกล่าวมาจาก “องค์การบริหารส่วนตำบลเซเลมจา” รัฐบาลท้องถิ่นของเขตเทศบาลในแคว้นอามูร์

Image
ภาพถ่ายหน้าจอรายงานข่าวท้องถิ่นของรัสเซียในปี 2562

ภาพถ่ายคล้ายๆ กัน ซึ่งแสดงการขนย้ายสุกรออกจากเล้าหมูเดียวกัน ถูกเผยแพร่ในอีกบทความในปี 2562

นอกจากนี้ ในปีเดียวกัน หนังสือพิมพ์เดอะไซบีเรียนไทมส์ ได้เผยแพร่ภาพถ่ายเดียวกัน ในรายงานเกี่ยวกับเหตุอุทกภัยรุนแรงในในภูมิภาคอามูร์

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา