โพสต์ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดว่า ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอำนาจเหนือรัฐบาลด้วยตำแหน่งประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจนถึงปี 2570

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 2 มิถุนายน 2023 เวลา 04:47
  • อัพเดตแล้ว วัน 10 กรกฎาคม 2023 เวลา 11:25
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP ประเทศไทย
หลังพรรคฝ่ายค้านคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทย สื่อสังคมออนไลน์ได้แชร์คำกล่าวอ้างว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการนายกรัฐมนตรี จะยังมีอำนาจเหนือรัฐบาลในอนาคตด้วยตำแหน่งประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ไปจนถึงปีพ.ศ. 2570 อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ตำแหน่งประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาตินั้นผูกกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย ไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นเพียงประยุทธ์ นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐบาลและนักวิชาการก็ได้ต่างปฏิเสธว่าคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิด พร้อมอธิบายว่าบุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยจะเป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้วยตำแหน่ง

โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 เขียนคำบรรยายว่า “ราชกิจจานุเบกษา ประกาศแต่งตั้ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานยุทธศาสตร์ชาติ ในปี 2566 -2570 ประธานยุทธศาสตร์ชาติ หมายถึง #อำนาจเต็มเหนือรัฐบาล!!”

ในเดือนตุลาคม 2561 ไทยประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอย่างเป็นทางการ โดยแผนการพัฒนาประเทศดังกล่าวจะกำหนดกรอบและแนวทางการพัฒนาเพื่อให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามเป็นระยะเวลา 20 ปี (ลิงค์บันทึก)

แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าวมีผลผูกพันต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปี 2561-2580 ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับรัฐบาลทหารที่กระทำการรัฐประหารในปี 2557 (ลิงค์บันทึกที่นี่ และนี่)

โพสต์เฟซบุ๊กดังกล่าวถูกแชร์มากกว่า 110 ครั้ง โดยมีภาพถ่ายหน้าจอจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาและอินโฟกราฟิกที่แสดงให้เห็นว่าประยุทธดำรงตำแหน่งประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

คำกล่าวอ้างดังกล่าวถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์หลังการเลือกตั้งในประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม โดยประชาชนได้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงเป็นประวัติการณ์ และพรรคฝ่ายค้านคว้าชัยชนะเหนือพรรคของประยุทธ์และพรรคอื่นๆ ที่สนับสนุนรัฐบาลทหาร

พรรคก้าวไกลและพรรคการเมืองอื่นอีก 7 พรรคได้หารือร่วมกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลร่วม อย่างไรก็ตาม นับจนถึงปัจจุบันยังไม่มีความแน่ชัดว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30ของประเทศไทย

พรรคก้าวไกลสามารถนำทีมพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้มากกว่า 300 เสียงจาก 500 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตามตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องใช้เสียงโหวตจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อีก 250 คน โดย ส.ว.เหล่านี้ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมว่า จะมีการกำหนดวันประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นวันที่ 3 สิงหาคม ไทยพีบีเอสรายงาน (ลิงค์บันทึก)

นอกจากนี้ ยังพบโพสต์ที่มีคำกล่าวอ้างใจความใกล้เคียงกันในเฟซบุ๊กที่นี่ ทวิตเตอร์ที่นี่ และติ๊กต็อกที่นี่

คอมเมนต์ใต้โพสต์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นความจริง

ผู้ใช้งานรายหนึ่งระบุว่า: “เป็นข่าวที่น่ายินดียิ่ง ลุงตู่มาเหนือเมฆเหนือพรรคก้าวไกลค่ะ”

“อยากให้ทำยาวๆ กว่านี้อีกค่ะ 2570 ยังน้อยไป” อีกคอนเมนต์ระบุ

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติได้ระบุว่า ใครก็ตามที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะได้เป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

ประธานยุทธศาสตร์ชาติ โดยตำแหน่ง

“พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เขียนไว้ว่านายกฯ เป็นประธานยุทธศาสตร์ชาติโดยตำแหน่ง” ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม (ลิงค์บันทึก)

บทบัญญัติในมาตรา 12 ของพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระบุว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติประกอบด้วย “(1.) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ” (ลิงค์บันทึก)

เจษฎ์ โทณะวณิก นักกฎหมายและอดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้อธิบายเพิ่มเติมกับ AFP เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมว่า นั่นหมายถึงว่าใครก็ตามที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยก็จะได้นั่งประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าเป็นประยุทธ์เท่านั้น (ลิงค์บันทึก)

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้แถลงชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว โดยกล่าวว่าคำกล่าวอ้างที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์นั้นเป็นบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง (ลิงค์บันทึก)

“สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ใคร่ขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติโดยตำแหน่ง” แถลงดังกล่าวระบุ

ในวันเดียวกัน อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ได้ออกมายืนยันคำชี้แจงของ สศช.

“นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติโดยตำแหน่ง ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560” อนุชาระบุ

ภาพถ่ายหน้าจอเก่า

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิ้ลพบว่า ภาพอินโฟกราฟิกที่ปรากฏในโพสต์เฟซบุ๊กนั้นถูกนำมาใช้โดยขาดบริบทสำคัญ และไม่ได้มีข้อความใดที่ระบุว่าประยุทธ์จะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจนถึงปี 2570

ต้นฉบับของอินโฟกราฟิกที่ปรากฏในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดนั้น ถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกโดย โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2562 ซึ่งเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือนหลังจากที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นชอบให้ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายน 2562 (ลิงค์บันทึกที่นี่ และนี่)

อินโฟกราฟิกดังกล่าวแสดงรายชื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงประยุทธ์ จันทร์โอชาในฐานะประธานกรรมการ

“เปลี่ยนรัฐบาล แต่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติแทบไม่เปลี่ยน..” ไอลอว์ทวีตเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2562

ส่วนภาพถ่ายหน้าจอที่แสดงให้เห็นประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น เป็นประกาศเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 (ลิงค์บันทึก) ซึ่งเป็นเพียงการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คนในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ โดยไม่ได้มีข้อความใดระบุว่าประยุทธ์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการจนถึงปี 2570 แต่อย่างใด

AFP ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวข้องการเลือกตั้งในประเทศไทยที่นี่ นี่ และนี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา