สื่อสังคมออนไลน์ไทยเผยแพร่โพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับร่างข้อตกลงป้องกันโรคระบาดขององค์การอนามัยโลก

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 20 มิถุนายน 2023 เวลา 09:55
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: Panisa AEMOCHA, AFP ประเทศไทย
โพสต์บนโลกออนไลน์ของไทยเผยแพร่ข้อมูลเท็จว่า ประเทศไทย "เพิ่งลงนาม" ในข้อตกลงป้องกันโรคระบาดขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่จะริดรอนอำนาจบริหารกิจการด้านสาธารณสุขไทยในยามฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลายคนกล่าวว่า แท้จริงแล้ว ข้อตกลงของ WHO นั้น เป็นการตอกย้ำอำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศ ทั้ง WHO และกรมควบคุมโรคของไทยกล่าวกับ AFP ว่า การเจรจานั้นจะดำเนินไปจนถึงปี 2567

คำบรรยายโพสต์เท็จซึ่งเผยแพร่ที่นี่ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ระบุว่า: “ไทยลงนามแล้ว กำลังจะเป็นทาส WHO เรื่องโรคระบาด ช่วยกันคัดค้านด้วยค่ะ เหลือเวลาอีก 3 เดือน”

โพสต์ดังกล่าวยังแนบลิงค์ของเว็บไซต์หนึ่งที่แชร์ข้อกล่าวอ้างเดียวกัน พร้อมกับลิงค์ร่วมลงชื่อการต่อต้านข้อตกลงของ WHO โดยมีใจความสำคัญว่า WHO จะได้รับสิทธิในการจัดการกับภาวะโรคระบาดในอนาคตทั้งหมด

Image
ภาพถ่ายหน้าจอโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด

ขณะที่ทั่วโลกต้องรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินจากโรคระบาดโควิด-19 ในเดือนธันวาคม 2564 นั้น WHO ได้ริเริ่มโครงการเจรจาข้อตกลงระหว่างหน่วยงานของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือแต่ละประเทศในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โรคระบาดในอนาคต

WHO ให้เหตุผลว่าข้อตกลงโรคระบาดนี้ริเริ่มขึ้นเพื่อตอบสนองต่อ “ความล้มเหลวอันใหญ่หลวงของสังคมนานาชาติในการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและความเสมอภาค” เพื่อตอบสนองต่อวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19

โพสต์ที่มีคำกล่าวอ้างคล้ายกันยังถูกแชร์บนเฟซบุ๊กและยูทูป

คอมเมนต์ในโพสต์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียจำนวนหนึ่งเชื่อว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นความจริง

ผู้ใช้งานคนหนึ่งระบุว่า: “แล้วประชาชนควรทำอย่างไรต่อไป...จะคัดค้านด้ายวิธีใด...กรุณาแจ้งให้ทราพด้วย จะได้ช่วยกัน”

“สนธิสัญญาทาส WHO กำลังจะมีอำนาจเหนือกฎหมายของทุกประเทศถ้าเราไม่ร่วมต่อต้านสนธิสัญญานี้”

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าโพสต์เหล่านี้บิดเบือนใจความสำคัญของข้อตกลงของ WHO

การเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาด

“แต่ละประเทศจะเป็นผู้ตัดสินใจในการจัดการกับภาวะโรคระบาด” ชาริฟาห์ เซกาลาลา ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายสาธารณสุขโลกแห่งมหาวิทยาลัยวอร์ริค กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน

“สนธิสัญญาฉบับนี้แค่พยายามจะเพิ่มความร่วมมือในการรับมือกับภาวะโรคระบาดในระดับนานาชาติเท่านั้น”

ข้อตกลงโรคระบาด WHO “ไม่ได้ปฏิเสธอธิปไตยของแต่ละประเทศในการจัดการกับภาวะโรคระบาดแต่อย่างใด” เบนจามิน เมสัน เมเออร์ ศาสตราจารย์ด้านนโยบายสาธารณสุขระดับโลก จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา แชเปิลฮิลล์ กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน

"ในความเป็นจริงแล้ว มันจะเป็นร่างที่แต่ละประเทศเองเขียนขึ้นเองด้วยซ้ำ” เบนจามินกล่าวเสริม

ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย จอส แวนเดอเลีย กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ว่า หน่วยงานระหว่างประเทศที่ดูแลด้านสาธารณสุขอย่าง WHO นั้น “มีอำนาจแค่เพียงให้คำปรึกษาและคำแนะนำ ไม่ได้บังคับประเทศต่างๆ เพื่อสนับสนุนวัคซีนหรือการป้องกันโรคพิเศษบางประเภทที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคระบาดในระดับนานาชาติ”

ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ของ WHO ณ วันที่ 20 มิถุนายน ร่างข้อตกลงระบุว่า “แต่ละประเทศ ย่อมมีอำนาจอธิปไตยในการออกกฎหมายหรือกำหนดนโยบายทางสาธารณสุขของตนเอง ตามหลักที่สอดคล้องกับกฎบัตรสหประชาชาติและหลักแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ” (ลิงค์บันทึก)

การเจรจายังไม่แล้วเสร็จ

สเตฟานี เดกรอน หัวหน้าภาควิชากฎหมายสาธารณสุขระดับโลกจากมหาวิทยาลัยเจนีวา กล่าวกับ AFP ผ่านอีเมลเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนว่า เธอเข้าใจว่าทำไมหลายประเทศจะมีความกังวลต่อการแทรกแซงกิจการภายในประเทศจาก WHO ทว่า “การคงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศยังหมายถึงความสามารถในการต่อรองสนธิสัญญาและการรับหรือไม่รับหลักการบางประการของ WHO”

โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรคของไทยกล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนว่า ราชอาณาจักรไทยยังไม่ได้ลงนามในข้อตกลงดังกล่าว

“ยังไม่มีการลงนามใดๆ เกิดขึ้น และจะมีการเจรจาต่อในปีหน้า” โสภณ ระบุ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน

จากข้อมูลจาก WHO พบว่าประเทศสมาชิกจะมาร่วมประชุมและวิเคราะห์ข้อตกลง โดยจะมีการประชุมสรุปเพื่อรับรองข้อตกลงในปี 2567 (ลิงค์บันทึก)

AFP ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากคำกล่าวอ้างที่คล้ายกันซึ่งถูกแชร์อย่างแพร่หลายในประเทศสหรัฐอเมริกาที่นี่และนี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา