ภาพถ่ายชุดนี้ไม่ใช่ชิ้นส่วนของยานไททัน ที่ระเบิดขณะเดินทางสำรวจซากเรือไททานิค
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วัน 26 มิถุนายน 2023 เวลา 10:22
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 พร้อมกับภาพถ่ายจากก้นทะเล
คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “หุ่นยนต์ดำน้ำของฝรั่งเศสพบเศษชิ้นส่วนใกล้กับเรือไททานิค ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าเศษซากดังกล่าวเป็นของเรือดำน้ำ "ไททัน" และเรือประสบการระเบิดแตกเป็นเสี่ยงๆ จากแรงกดดันมหาศาล”
คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันได้ถูกแชร์พร้อมภาพชุดดังกล่าวในโพสต์ออนไลน์จากทั่วโลก ทั้งบนเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และติ๊กตอก
คำกล่าวอ้างนี้ถูกแชร์หลังจากที่หน่วยยามชายฝั่งออกมายืนยันว่ายานดำน้ำไททัน “ระเบิดจากภายในอย่างรุนแรง” ส่งผลให้ทุกคนในยานเสียชีวิตทันที โดยแถลงการณ์ดังกล่าวนับเป็นการสิ้นสุดภารกิจการค้นหายานไททันที่สูญหายไป หลังขาดการติดต่อหลังออกเดินทางลงไปสำรวจซากเรือไททานิคไม่ถึงสองชั่วโมง
ยานไร้คนขับพบชิ้นส่วนของยานที่พื้นผิวทะเล ห่างจากหัวเรือไททานิคไป 500 เมตร โดยเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าชิ้นส่วนที่พบตรงกับชิ้นส่วนภายในห้องความดันของยาน จากซากที่พบคือส่วนท้ายของยาน ปลายด้านหน้าและด้านหลังของยาน
อย่างไรก็ตาม ภาพที่ถูกเผยแพร่ออนไลน์ไม่ได้เป็นภาพของยานสำรวจไททัน
“เจ้าหน้าที่กู้ภัยยังไม่ได้เผยแพร่ภาพถ่ายหรือคลิปวิดีโอของชิ้นส่วนที่เก็บได้ในขณะนี้” หน่วยที่หนึ่งของยามฝั่งสหรัฐฯ ยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน “เราไม่สามารถยืนยันความถูกต้องของภาพถ่ายที่ไม่ได้มาจากแถลงการณ์หรือจากสื่อสังคมออนไลน์ของเรา”
ภาพซากเรือไททานิค ปี 2547
การค้นหาภาพย้อนหลังพบว่า ภาพที่ถูกนำไปเผยแพร่ในบริบทที่ทำให้เข้าใจผิดทางสื่อสังคมออนไลน์ เป็นภาพของซากเรือไททานิคที่ถ่ายไว้เกือบสองทศวรรษก่อน
นักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยโรดไอส์แลนด์และองค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) ได้บันทึกภาพต้นฉบับ (ที่นี่และนี่) ระหว่างภารกิจสร้างแผนที่และบันทึกการเสื่อมสภาพของซากเรือไททานิคในปี 2547
“สองภาพถ่ายดังกล่าว เป็นภาพจากการสำรวจปี 2547 โดย NOAA และศูนย์โบราณคดีสมุทรศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโรดไอส์แลนด์ ” เอมิลี่ ครัม โฆษกประจำสำนักงานสำรวจมหาสมุทรของ NOAA กล่าวในอีเมลเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 “นี่ไม่ใช่ภาพซากเรือไททัน”
เรือไททานิคอับปางลงระหว่างการเดินทางครั้งแรกในปี ค.ศ. 1912 หลังชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็ง มีผู้โดยสารเสียชีวิตประมาณ 1,500 ราย
วิดีโอปี 2552 จากเขตอเมริกันซามัว
ภาพนี้ที่ถูกแชร์ออนไลน์ ตรงกับคลิปวิดีโอของ NOAA ที่ถูกเผยแพร่ทางยูทูป ตั้งแต่ปี 2556 (ลิงค์บันทึก)
ครัมกล่าวว่าคลิปต้นฉบับ (ลิงค์บันทึก) บันทึกเอาไว้ก่อนถูกเผยแพร่ออนไลน์ด้วยซ้ำ
“คลิปวิดีโอดังกล่าวเป็นซากปรักหักพังในเขตอเมริกันซามัว จากปี 2552” ครัมกล่าว “มันไม่ได้เป็นภาพซากเรือไททัน”
ภาพปี 2561 จากประเทศอินโดนีเซีย
อีกภาพนึง ซึ่งแสดงแผ่นเหล็กลอยอยู่บนผิวน้ำ ถูกนำมาแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นชิ้นส่วนของยานสำรวจโอเชียนเกทที่สูญหาย
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นภาพถ่ายจากน่านน้ำทางตอนเหนือของจังหวัดชวาตะวันตกประเทศอินโดนีเซีย ในเดือนตุลาคม 2561
โดยเป็นภาพชิ้นส่วนของเครื่องบินสายการบินไลออนแอร์ที่ประสบอุบัติเหตุและตกลงสู่ทะเล
ภาพที่สร้างขึ้น
นอกจากภาพเก่าแล้ว ยังมีภาพที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)
การตรวจสอบของ AFP พบว่าภาพที่ดูเหมือนซากยานสำรวจดังกล่าวถูกเผยแพร่โดยบัญชีทวิตเตอร์ “Prince of Deepfakes (Parody)” ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเผยแพร่ภาพที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเครื่องมือเอไอ Midjourney
ภาพดังกล่าวยังมีลักษณะที่ระบุว่าเป็นภาพที่สร้างขึ้น
ภาพนี้มีแสงที่ดูเหมือนจะส่องลงมาจากผิวน้ำ ขณะที่ในความเป็นจริงแล้วชิ้นส่วนของยานไททัน พบอยู่ที่ระดับ 3,810 เมตรใต้ระดับน้ำทะเล
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา