
คลิปวิดีโอจำลองการโจมตีกรุงปารีสถูกนำมาอ้างอย่างผิดๆ ว่าเกี่ยวกับเหตุจลาจลปี 2566 ในฝรั่งเศส
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 17 กรกฎาคม 2566 เวลา 11:41
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คลิปวิดีโอความยาว 18 วินาทีแสดงให้เห็นภาพหอไอเฟลถูกโจมตีโดยระเบิด ก่อนจะมีควันฟุ้งกระจายออกไปเหนืออาคารต่างๆ และมีเครื่องบินรบบินอยู่เหนือกรุงปารีส โดยวิดีโอนี้ถูกโพสต์ลงในทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566
คำบรรยายโพสต์ดังกล่าวเขียนว่า “ฝรั่งเศสกำลังล่มสลาย เพราะรัฐ หรือ ประชาชน ? ผู้คนตกงาน ไร้บ้าน เกิดการจราจลหลายเมือง”
“เผารถไฟ เผาบ้านเผาเมือง ปล้นสดมกันเอง ปล้นนักท่องเที่ยวโดยอ้างมูลเหตุจากการไม่พอใจตำรวจคนนึงที่ทำผิดร้ายแรง #ฝรั่งเศส / เหตุการณ์ไฟลามทุ่งไปถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วย”

คลิปวิดีโอเดียวกันยังถูกโพสต์ลงในเฟซบุ๊กที่นี่และนี่ ซึ่งมียอดผู้ชมสูงกว่า 1.7 ล้านครั้ง และทางติ๊กตอกที่นี่
คำกล่าวอ้างเท็จดังกล่าวปรากฏขึ้นหลังการประท้วงและเหตุจลาจลลุกลามไปทั่วฝรั่งเศส หลังจากวัยรุ่นคนหนึ่งถูกตำรวจยิงเสียชีวิตขณะขับรถในย่านชานเมืองกรุงปารีสเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน เหตุการณ์นี้ได้จุดชนวนให้เกิดจลาจลติดต่อกันหลายคืน ผู้ประท้วงก่อเหตุเผารถยนต์และอาคารบ้านเรือน ปล้นชิงทรัพย์สินตามร้านค้า และปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
นอกจากนี้ ยังมีการเผารถยนต์และอาคาร รวมถึงการปล้นร้านค้าต่างๆ ในขณะที่กลุ่มเยาวชนปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในช่วงเวลาหลายคืนที่มีการประท้วงรุนแรงต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม คลิปวิดีโอนี้ถูกแชร์ในบริบทที่เป็นเท็จ
การค้นหาภาพย้อนหลังและการค้นหาด้วยคำสำคัญทางกูเกิล พบคลิปวิดีโอที่ยาวกว่าถูกเผยแพร่โดยบัญชีทวิตเตอร์ทางการของรัฐสภาประเทศยูเครน เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2565 พร้อมคำบรรยายที่เขียนว่า: “ทำไมหอไอเฟลในปารีสหรือประตูบรันเดนบูร์กในเบอร์ลิน”
คำบรรยายยังระบุต่อด้วยคำถามว่า “หอไอเฟลในปารีสหรือประตูบรันเดนบูร์กในเบอร์ลิน ที่โด่งดังจะยังคงยืนหยัดอยู่ได้ไหมหากเจอถล่มอย่างต่อเนื่องจากทหารรัสเซีย?”

ในช่วงสุดท้ายของคลิปวิดีโอความยาว 45 วินาทีดังกล่าว มีข้อความภาษาอังกฤษที่แปลว่า “ลองคิดดูว่าถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นที่เมืองหลวงอื่นในทวีปยุโรป” และ “ปิดน่านฟ้าเหนือยูเครนซะ หรือส่งเครื่องบินรบให้เรา”
โวโลดิเมียร์ เซลินสกี ประธานาธิบดียูเครนได้เรียกร้องให้นาโต้และสหรัฐฯ ออกคำสั่งปิดน่านฟ้าเหนือประเทศยูเครน
ไม่ใช่วิดีโอของเหตุการณ์จริง
จากรายงานเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 ของหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส เลอมอนด์ ต้นฉบับของคลิปวิดีโอดังกล่าว คือภาพยนต์ที่สร้างขึ้นโดยโอไลอาส บาร์โค นักเขียนบทภาพยนตร์และผู้กำกับชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ในกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน
บาร์โคเผยแพร่คลิปวิดีโอดังกล่าวลงในบัญชีอินสตาแกรมของเขา เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 แต่ต่อมาวิดีโอดังกล่าวถูกลบออก
“ปลุกให้ชาติตะวันตกตื่น” โดยเขากล่าวว่าภาพยนต์ดังกล่าว “เกี่ยวกับอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นได้” ไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อ เพราะเขาเชื่อว่าความขัดแย้งในประเทศยูเครนสามารถขยายไปสู่ภูมิภาคอื่นได้
AFP ได้ตรวจสอบโพสต์ที่แชร์คลิปวิดีโอดังกล่าวในบริบทที่เป็นเท็จในปี 2565 ที่นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา