ประเทศไทยไม่ได้ตั้งจังหวัดใหม่ในเดือนกรกฎาคม
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 29 สิงหาคม 2023 เวลา 09:36
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: Panisa AEMOCHA, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำบรรยายโพสต์เท็จ ซึ่งถูกโพสต์ลงในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ระบุว่า "ร10 ทรงโปรดเกล้าฯ ประทานชื่อ "กระแสสินธุ์" ทรงพระเจริญ จังหวัดใหม่"
โพสต์ดังกล่าวยังเขียนต่อว่า อำเภอกระแสสินธุ์ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคใต้ของไทย จะกลายเป็นจังหวัดที่ 78 ของประเทศไทย
ปัจจุบันกระแสสินธุ์เป็นอำเภอหนึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดสงขลา (ลิงค์บันทึก)
คำกล่าวอ้างเท็จที่ใกล้เคียงกันยังถูกแชร์บนเฟซบุ๊กที่นี่ และนี่ และ X ที่มีชื่อเดิมว่าทวิตเตอร์ที่นี่
ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์จำนวนหนึ่งเชื่อว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นความจริง และได้แสดงความคิดเห็นว่า "ทรงพระเจริญ" เป็นจำนวนมาก
ไม่มีการยื่นเรื่อง
อย่างไรก็ดี มาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 ว่า อำเภอกระแสสินธุ์ไม่เคยยื่นเรื่องขอยกระดับจากอำเภอเป็นจังหวัด (ลิงค์บันทึก)
รองผู้ว่าฯ อธิบายต่อว่า ขั้นตอนการเปลี่ยนสถานะจากอำเภอเป็นจังหวัดนั้น ต้องเริ่มจากการส่งคำร้องมาที่จังหวัดที่พื้นที่นั้นๆ ตั้งอยู่ก่อน จากนั้น คำร้องดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยังกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะเป็นผู้ยื่นเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีสำหรับการพิจารณา
"มองด้วยตรรกะและเหตุผล เป็นไปไม่ได้เลย" เขากล่าว
มติคณะรัฐมนตรีในปี 2524 ระบุไว้ว่า จังหวัดที่ตั้งขึ้นใหม่ต้องมีพื้นที่รวมมากกว่า 5,000 ตารางกิโลเมตร และมีจำนวนประชากรมากกว่า 300,000 คน (ลิงค์บันทึก)
ตามข้อมูลทางการบนเว็บไซต์ของอำเภอกระแสสินธุ์ระบุว่า พื้นที่รวมของอำเภอคือ 114 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรรวมราว 15,000 คน (ลิงค์บันทึก)
นอกจากนี้ การพิจารณาตั้งจังหวัดใหม่ยังคำนึงถึงลักษณะพิเศษอื่นๆ ของพื้นที่ด้วย เช่น ประวัติศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ หรือความมั่นคง
ในปี 2554 ไทยประกาศให้บึงกาฬเป็นจังหวัดใหม่ล่าสุดของประเทศ โดยแยกตัวออกมาจากจังหวัดหนองคาย ส่วนหนึ่งเพื่อให้รัฐสามารถดูแลพื้นที่ชายแดนริมแม่น้ำโขง ซึ่งกั้นระหว่างประเทศไทยและลาวได้ดียิ่งขึ้น โดยข้อมูลดังกล่าวอ้างอิงมาจากพระราชบัญญัติตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. 2554 (ลิงค์บันทึก)
AFP ไม่พบรายงานบนเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับมติของคณะรัฐมนตรีการตั้งจังหวัดใหม่ (ลิงค์บันทึกนี่และนี่)
เว็บไซต์คณะกรรมการส่งเสริมการลงุทนของไทยยังระบุว่าประเทศไทยในปัจจุบันมี 77 จังหวัด ไม่ใช่ 78 จังหวัด (ลิงค์บันทึก)
ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข่าวปลอมในประเทศไทยเกี่ยวกับการตั้ง 7 จังหวัดใหม่ที่นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา