โพสต์แชร์คำกล่าวอ้างเท็จว่า คนไทยถูกห้ามเข้าประเทศญึ่ปุ่นจากคลิปเต้นบนรถไฟฟ้า

ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในไทยแชร์คำกล่าวอ้างว่า ผู้ใช้งานติ๊กตอกชาวไทยถูกห้ามไม่ให้เข้าประเทศญี่ปุ่นเป็นระยะเวลา 20 ปี หลังคลิปวิดีโอเต้นบนรถไฟฟ้าถูกแชร์นับหลายพันครั้ง อย่างไรก็ตาม กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองของประเทศญี่ปุ่นไม่มีมาตรการห้ามไม่ให้เข้าประเทศ 20 ปี ขณะที่สถานทูตญี่ปุ่นในไทยยืนยันว่า การเต้นบนรถไฟฟ้านั้นไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่อาจถูกมองว่าเป็นเรื่อง “ไม่สุภาพและไม่เป็นที่ยอมรับ” สำหรับคนญี่ปุ่น นอกจากนี้ AFP ไม่พบรายงานข่าวในประเทศญี่ปุ่นเกี่ยวกับการลงโทษที่ถูกแชร์ในโพสต์เท็จดังกล่าว

โพสต์ปลอมซึ่งเผยแพร่ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ระบุว่า “นายวรพล พรสูงเนิน อายุ 32 ปี เพศชาย ได้ถูกทางรัฐบาลญี่ปุ่น แบนห้ามเข้าประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 20 ปี #ข้อหาเต้นและถ่ายคลิปบนรถไฟฟ้า เครดิต สำนักข่าว NHK”

NHK คือสำนักข่าวของประเทศญี่ปุ่น

โพสต์ดังกล่าวมียอดแชร์มากกว่า 3,000 ครั้ง โดยได้แนบภาพถ่ายประกอบ 2 ภาพ ได้แก่ 1. ภาพถ่ายหน้าจอของเว็บไซต์ชื่อ “โกลบอลนิวส์เอเชีย” (Global News Asia) และ 2. ภาพถ่ายของผู้ใช้งานติ๊กตอกคนดังกล่าวที่เต้นบนรถไฟฟ้า

สำนักข่าวไทยรายงานว่าคลิปที่ผู้ใช้งานติ๊กตอกคนดังกล่าวเปิดเพลงเสียงดังและเต้นบนรถไฟฟ้านั้นสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มคนไทย ซึ่งมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม (ลิงค์บันทึกนี่และนี่)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่มีคำกล่าวอ้างเท็จ

คำกล่าวอ้างเท็จในลักษณะเดียวกันยังถูกแชร์บนเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ และนี่

“นี่คือญี่ปุ่น ทีนี้ก็อวดได้เต็มที่ว่าเคยมาญี่ปุ่นแล้ว และจะมาอีกทีในอีก 20 ปี” ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กบัญชีหนึ่งระบุในช่องคอมเมนต์ใต้โพสต์ที่มีคำกล่าวอ้างเท็จ

ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กอีกบัญชีหนึ่งเขียนในช่องคอมเมนต์ว่า “รออีก 20 ปี ค่อยเที่ยวใหม่”

อย่างไรก็ตาม กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองของประเทศญี่ปุ่นไม่ได้กำหนดโทษใดที่ห้ามบุคคลเข้าประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 20 ปี อีกทั้ง เจ้าหน้าที่จากสถานทูตญี่ปุ่นยืนยันว่า การเต้นบนรถไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นไม่ได้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

การเต้นไม่ผิดกฎหมาย

“การเต้นบนรถไฟฟ้าไม่ได้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในญี่ปุ่น แต่อาจถูกมองว่าไม่สุภาพและไม่เป็นที่ยอมรับ” สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยกล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม (ลิงค์บันทึก)

สถานทูตฯ ยังเสริมว่า ไม่มียทบัญญัติข้อใดภายใต้กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่นที่ระบุโทษห้ามบุคคลเข้าประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 20 ปี

AFP ไม่พบโทษดังกล่าวระบุไว้ในกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองและผู้อพยพของประเทศญี่ปุ่น (ลิงค์บันทึก)

สำหรับโพสต์ที่กล่าวอ้างอย่างผิดๆ ว่าสำนักข่าว NHK รายงานเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น AFP ได้ค้นหาด้วยคำสำคัญในเว็บไซต์ของ NHK และไม่พบรายงานข่าวใดที่กล่าวถึงการห้ามไม่ให้ผู้ใช้ติ๊กตอกคนดังกล่าวเข้าประเทศญี่ปุ่น (ลิงค์บันทึก)

นอกจากนี้ ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่มีคำกล่าวอ้างเท็จนั้นแสดงให้เห็นเว็บไซต์ “Global News Asia” (ลิงค์บันทึก)

เว็บไซต์ดังกล่าวพาดหัวข่าวว่า “วิดีโอสาวไทยเต้นสนุกสนานบนรถไฟในญี่ปุ่น เรียกเสียงวิจารณ์สนั่น” โดยไม่มีเนื้อหาส่วนไหนที่ระบุถึงบทลงโทษต่อผู้ใช้งานติ๊กตอกคนดังกล่าว

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่อ้างรายงานข่าวของ NHK อย่างผิดๆ (ซ้าย) และรายงานข่าวต้นฉบับบนเว็บไซต์ Global News Asia (ขวา):

Image
ภาพบันทึกหน้าจอเปรียบระหว่างภาพที่อ้างว่าเป็นรายงานข่าวจาก NHK (ซ้าย) และภาพจากรายงานจริงบนเว็บไซต์ NHK (ขวา)

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ผู้ใช้งานติ๊กตอกคนดังกล่าวได้แถลงขอโทษบนบัญชีติ๊กตอกของตนเอง พร้อมระบุว่าตนอยากขอโทษคนไทยและคนญี่ปุ่น รวมถึง “คนญี่ปุ่นบนรถไฟฟ้าที่ถูกบันทึกในวิดีโอด้วย”

“ตอนนี้ดิฉันและเพื่อนๆ ยอมรับฟังทุกคำเตือน และสำนึกผิดแล้ว” ผู้ใช้งานติ๊กตอกคนดังกล่าวระบุ

จากการแถลงขอโทษดังกล่าว ผู้ใช้ติ๊กตอกไม่ได้เอ่ยถึงโทษห้ามเข้าประเทศญี่ปุ่นแต่อย่างใด

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา