วัตถุสีฟ้าในฮาวายไม่ได้พิสูจน์ว่าเลเซอร์ทำให้เกิดไฟป่า

ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์อ้างว่าวัตถุสีฟ้าและสีน้ำเงินที่รอดจากไฟป่าในรัฐฮาวายเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 เป็นข้อพิสูจน์ว่าไฟป่าดังกล่าวเกิดจากอาวุธเลเซอร์ คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ เปลวไฟไม่ได้ละเว้นสิ่งก่อสร้างเพียงเพราะสี และไม่มีหลักฐานชี้ว่าอาวุธพลังงานเป็นสาเหตุของเพลิงไหม้

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 โดยระบุว่า "สิ่งแปลกประหลาดที่สุดเกี่ยวกับฮาวาย... เกือบทุกสิ่งที่เป็นสีฟ้า สีคราม รอดจากไฟไหม้"

ต่อมาในวันที่ 28 สิงหาคม อีกโพสต์หนึ่งทาง 'เอ็กซ์' หรือที่รู้จักกันในชื่อเดิมว่าทวิตเตอร์ เขียนคำบรรยายว่า "สรุปมีวัตถุสีไม่ไหม้สีฟ้าคือ เปลนอน ถังขยะ ร่ม บ้าน รถ"

โพสต์ดังกล่าวยังได้แชร์ภาพบันทึกหน้าจอจากคลิปวิดีโอหนึ่งที่แสดงให้เห็นรถสีน้ำเงินที่เสียหายน้อยกว่ารถคันอื่นๆ ที่อยู่รอบๆ

บางโพสต์อ้างว่าเลเซอร์ไม่สามารถเผาวัตถุสีน้ำฟ้าหรือสีน้ำเงินได้ พร้อมยกเหตุผลดังกล่าวมา สนับสนุนทฤษฏีสมคบคิดเรื่องไฟป่าฮาวายมีตั้งกำเนิดมาจากอาวุธเลเซอร์ หรือ DEW (directed energy weapon) ซึ่งเป็นอาวุธระยะไกลที่สร้างความเสียหายให้แก่เป้าหมายด้วยการชี้นำ

เหตุการณ์ไฟป่าในรัฐฮาวายครั้งนี้เผาทำลายเมืองลาไฮนาบนเกาะเมาวี โดยมียอดผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 115 คน (ลิงค์บันทึก)

อาวุธพลังงานเลเซอร์ดังกล่าวใช้พลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าแบบเข้มข้นและอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาโดยกองทัพสหรัฐฯ เพื่อป้องกันขีปนาวุธและอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน ตามข้อมูลของสำนักงานตรวจสอบอิสระของรัฐสภาสหรัฐฯ (ลิงค์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด บันทึกเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566

คำกล่าวอ้างดังกล่าวถูกเผยแพร่ในคลิปวิดีโอที่ถูกแชร์ในหลายประเทศทั่วโลกทั้งทางติ๊กตอก และในแพลตฟอร์มอื่นๆ โดยคำกล่าวอ้างเหล่านี้ตั้งอยู่บนความเชื่อเรื่องทฤษฎีสมคบคิดที่กล่าวว่าเหตุไฟป่าที่ฮาวายมีสาเหตุมาจากการใช้อาวุธพลังงานเลเซอร์ (ลิงค์บันทึก)

หลายโพสต์ที่แพร่ในเอ็กซ์ มาจากบัญชีชื่อ "Wall Street Apes" ซึ่งก่อนหน้านี้ได้นำเสนอข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

อย่างไรก็ดีไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าเพลิงไหม้มีต้นกำเนิดมาจากอาวุธเลเซอร์ AFP ได้ตรวจสอบภาพหลายภาพที่อ้างอย่างผิดๆ ว่าแสดงศักยภาพของอาวุธพลังงานดังกล่าว

ภาพถ่ายจากฮาวายแสดงให้เห็นวัตถุหลากสีที่ไม่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติครั้งนี้ สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าเป็นปรากฏการณ์ทั่วไปที่อาคารบางแห่งและต้นไม้บางต้นไม่ถูกไฟไหม้หรือไม่ได้รับความเสียหายรุนแรง ขณะที่สิ่งก่อสร้างอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงโดนเผาไหม้

'บ้าไปแล้ว'

เอียน บอยด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธพลังงานเลเซอร์จากมหาวิทยาลัยโคโลราโดในสหรัฐฯ อธิบายกับ AFP ว่า อาวุธเลเซอร์พลังงานสูงอาจมีปฏิกิริยาที่แตกต่างออกไปกับวัสดุต่างๆ เช่น กรณีที่เสื้อสีดำทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกร้อนเมื่ออยู่กลางแสงแดดมากกว่าเสื้อสีขาว

อย่างไรก็ตาม การเอาแนวคิดนี้มาอธิบายว่าอาวุธดังกล่าวถูกใช้ในฮาวายเพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายสิ่งของที่มีสีฟ้าหรือสีน้ำเงินนั้น ถือว่า "บ้าไปแล้วจริงๆ" เขากล่าว

"ถ้าลำแสงเลเซอร์มีพลังงานมากพอจะจุดไฟขนาดใหญ่เท่านั้นได้ มันจะเผาไหม้วัสดุทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นสีใดก็ตาม" บอยด์กล่าว

บอยด์ตั้งข้อสังเกตว่า จากภาพถ่ายเหตุการณ์ไฟป่าดังกล่าวกินพื้นที่เป็นวงกว้าง ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นหักล้างคำกล่าวอ้างเรื่องการใช้อาวุธเลเซอร์และข้อสังเกตเรื่องวัตถุสีน้ำเงินไปโดยปริยาย "เราทุกคนรู้ดีว่ามันไม่เป็นความจริง"

ก่อนหน้านี้ บอยด์ บอกกับ AFP ว่า เลเซอร์ที่มีกำลังเพียงพอที่จะจุดไฟที่ฮาวาย ต้องใช้ปริมาณอากาศอย่าง "มหาศาล" หรือยานอวกาศขนาด "มหึมา" ที่ไม่สามารถดำเนินการได้โดยไม่มีผู้คนรับรู้ อีกทั้งประเภทของเลเซอร์สำหรับอาวุธเช่นนั้นต้องใช้ความยาวคลื่นในระดับที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (ลิงค์บันทึก)

เจ้าหน้าที่ยังดำเนินการสืบสวนหาสาเหตุของไฟป่าที่ฮาวาย รวมถึงพิจารณาว่าสายไฟที่หักและการตัดสินใจของหน่วยงานสาธารณูปโภคหลักของรัฐ มีส่วนทำให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นหรือไม่ (ลิงค์บันทึกที่นี่และนี่)

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของสหรัฐฯ ได้แจ้งเตือนล่วงหน้าเกี่ยวกับสภาพเพลิงไหม้ที่เป็นอันตรายในรัฐนี้ เนื่องจากพายุเฮอริเคนที่อยู่ใกล้เคียงได้พัดพาลมแรงมาสู่พื้นที่ซึ่งมีพืชพรรณแห้ง

"ด้วยลมที่รุนแรงเช่นนี้และมีหญ้าแห้งจำนวนมากล้อมรอบชุมชน จึงไม่จำเป็นต้องมีการจุดไฟจาก 'อวกาศ'" ไมเคิล กอลล์เนอร์ ผู้วิจัยพลศาสตร์อัคคีภัย จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-เบิร์กลีย์ บอกกับ AFP ก่อนหน้านี้เกี่ยวกับทฤษฎีสมคบคิดเลเซอร์ (ลิงค์บันทึก)

สาเหตุที่บ้านบางหลังไม่ถูกไฟไหม้

ต้นไม้ อาคาร และวัสดุอื่นๆ ล้วนเป็นเชื้อเพลิงให้ไฟป่าลุกลามจริง แต่อาร์โนด์ ทรูฟ ประธานภาควิชาวิศวกรรมป้องกันอัคคีภัย มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ อธิบายกับ AFP ว่า "มันไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะพบวัตถุ โครงสร้างทั้งหลัง หรือกลุ่มพืชพรรณที่ไม่ได้รับความเสียหาย" จากเหตุไฟป่า

"ตัวแปรมีทั้งสภาวะการสัมผัสไฟของวัตถุที่เป็นเชื้อเพลิงได้ และการตอบสนอง [ต่อการติดไฟ] ปัจจัยเหล่านี้ช่วยอธิบายว่าทำไมบางครั้งจึงมีบ้านที่ไม่ถูกเผาไป" เขากล่าว

ระยะห่างก็เป็นอีกปัจจัยที่ทรูฟใช้อธิบายว่าทำไมบ้านบางหลังไม่ถูกเผาจากการสัมผัสกับเปลวไฟที่ปลิวว่อนที่พื้นที่ร้อนจัด นอกจากนี้วัสดุของโครงสร้างบ้านก็มีความทนทานที่แตกต่างต่ออุณหภูมิสูงด้วย (ลิงค์บันทึก)

การที่มีวัตถุสีฟ้าหรือสีน้ำเงินทำให้บ้านไม่ถูกเผา "เป็นการตั้งข้อสังเกตมากกว่าคำอธิบาย" ทรูฟกล่าว

AFP จับภาพรถยนต์ บ้าน และวัตถุที่ไม่ได้ถูกเผา ไว้ได้หลายสี รวมถึงบ้านหลังคาสีแดงที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของความหวังในชุมชนลาไฮนา (ลิงค์บันทึกที่นี่และนี่)

Image
ภาพถ่ายมุมสูงที่เห็นผู้คนเดินสำรวจบ้านที่รอดจากเหตุไฟป่าในเมืองลาไฮนา รัฐฮาวาย เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566 ( AFP / Patrick T. Fallon)
Image
ภาพถ่ายมุมสูงบ้านและรถยนต์ที่ถูกทำลายจากเหตุไฟป่าในเมืองลาไฮนา รัฐฮาวาย เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566 ( AFP / Patrick T. Fallon)

 

 

Image
ภาพอาคารบ้านเรือนที่ถูกทำลายจากไฟป่าในลาไฮนา ทางภาคตะวัรตกของเมาวี รัฐฮาวาย เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ( AFP / Paula RAMON)
Image
ภาพถ่ายมุมสูงของบ้านหลังคาสีแดงท่ามกลางซากบ้านเรือนที่ถูกทำลายจากไฟป่าในลาไฮนา รัฐฮาวาย เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ( AFP / Patrick T. Fallon)

 

 

ทริป มิลลิคิน เจ้าของบ้านคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับ NPR ว่าเขาและภรรยาได้ติดตั้งหลังคาเหล็ก เพิ่มกำแพงหิน และกำจัดพืชพรรณตามแนวท่อระบายน้ำในระหว่างโครงการปรับปรุงเมื่อเร็วๆ นี้ (ลิงค์บันทึก)

AFP ยังจับภาพวัสดุสีฟ้าหรือสีน้ำเงินที่พังทลายในเปลวเพลิงด้วย

Image
ภาพถ่ายมุมสูงแสดงให้เห็นความเสียหายต่อบ้านและรถยนต์จากเหตุไฟป่าในเมืองลาไฮนาบนเกาะเมาวี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566 ( AFP / Patrick T. Fallon)

AFP ได้ตรวจสอบข้อมูลเท็จเกี่ยวกับฮาวายที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา