วิดีโอปลาตายจำนวนมากถูกเผยแพร่หลังโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะปล่อยน้ำเสียลงทะเล

คลิปวิดีโอปลาตายหลายพันตัวลอยอยู่ในทะเลถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทย พร้อมคำกล่าวอ้างว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงวันเดียวหลังญี่ปุ่นทยอยปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ อย่างไรก็ตาม วิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่หลายเดือนก่อนการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นบนชายฝั่งด้านตะวันตกของญี่ปุ่น ในขณะที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น

คลิปวิดีโอนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566

คำบรรยายวิดีโอ ซึ่งแสดงให้เห็นปลาตายจำนวนมากในทะเล เขียนว่า "เพียงวันเดียวเท่านั้นหลังจากญี่ปุ่นปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนกำมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงสู่ทะเล"

"งดการไปเที่ยวญี่ปุ่น งดทานอาหารญี่ปุ่น โดยเฉพาะปลาดิบ อย่างน้อยเป็นเวลา 1 ปีจ้า"

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์วิดีโอพร้อมคำกล่าวอ้างเท็จ

คำกล่าวอ้างดังกล่าวปรากฏขึ้นหลังประเทศญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ท่ามกลางกระแสต่อต้านจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้และจีน

เทปโก ผู้ดำเนินกิจการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ยืนยันว่า ผลตัวอย่างน้ำทะเลหลังปล่อยน้ำเสียชี้ให้เห็นว่า ระดับกัมมันตภาพรังสีอยู่ในระดับปลอดภัย สำนักข่าว AFP รายงาน

คำกล่าวอ้างที่คล้ายกันนี้ยังถูกแชร์ในเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ และ นี่ นอกจากนี้ยังพบคำกล่าวอ้างเดียวกันใน X ที่ก่อนหน้านี้รู้จักกันในชื่อทวิตเตอร์ที่นี่ และในติ๊กตอกที่นี่

อย่างไรก็ตาม วิดีโอดังกล่าวถูกบันทึกไว้ก่อนการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ

วิดีโอเก่า

จากการค้นหาภาพย้อนหลัง AFP พบว่าวิดีโอเดียวกันถูกโพสต์ไว้ใน Douyin ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 (ลิงค์บันทึก)

วิดีโอเดียวกันนี้ยังถูกเผยแพร่ในโพสต์ไว้ใน Weibo ซึ่งระบุว่า วิดีโอดังกล่าวถูกบันทึกระหว่าง "การถ่ายทอดสดโดยคนดังในโลกออนไลน์ในประเทศญี่ปุ่น" ที่พบ "ปลาตายจำนวนมากบนชายหาด" (ลิงค์บันทึก)

"ระหว่างการถ่ายทอดสด มีคนพูดว่าเห็นสาหร่ายสีแดง และคนอื่นๆ ถามด้วยความกังวลว่าจะเกิดแผ่นดินไหวหรือไม่" คำบรรยายของโพสต์ดังกล่าวระบุ

อย่างไรก็ตาม คำบรรยายไม่ได้กล่าวถึงฟุกุชิมะหรือการปล่อยน้ำเสียของญี่ปุ่นลงสู่ทะเลแต่อย่างใด

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอในโพสต์เท็จ (ซ้าย) กับวิดีโอในช่องทาง Weibo ที่ถูกโพสต์เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2566 (ขวา):

Image
เปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอในโพสต์เท็จ (ซ้าย) กับวิดีโอในช่องทาง Weibo ที่ถูกโพสต์เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2566 (ขวา)

สำนักข่าวญี่ปุ่น Joetsu Times รายงานในวันเดียวกันว่า มีคนอัพโหลดวิดีโอเหตุการณ์ปลาตายเกลื่อนชายหาดในเมืองอิโตอิกาวะ (ลิงค์บันทึก)

เมืองอิโตอิกาวะตั้งอยู่บนชายฝั่งด้านตะวันตกของประเทศญี่ปุ่น และอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะมากกว่า 280 กิโลเมตร (ราว 170 ไมล์)

เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกล่าวกับ AFP ว่าพวกเขาได้เก็บซากปลาได้ประมาณ 250 ตัน แต่ไม่สามารถสรุปสาเหตุการตายของปลาได้

นอกจากนี้ Joetsu Times ได้เผยแพร่ภาพถ่ายที่มีลักษณะคล้ายกับวิดีโอที่ทำให้เข้าใจผิด โดยมีคำบรรยายว่า "ซากปลาตายเกลื่อนชายหาดท่าเรือประมงสึตซึอิชิ (หลัง 5 โมงเย็นของวันที่ 7)"

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพถ่ายที่เผยแพร่โดยสำนักข่าว Joetsu Times (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อแสดงให้เห็นลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่คล้ายกัน:

Image
เปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพถ่ายที่เผยแพร่โดยสำนักข่าว Joetsu Times (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อแสดงให้เห็นลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่คล้ายกัน

เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น และสำนักข่าวอย่าง NHK TBS และ NTV ได้รายงานถึงเหตุการณ์ดังกล่าว (ลิงค์บันทึกที่นี่ นี่ และ นี่)

AFP สามารถระบุตำแหน่งสถานที่ที่เหตุการณ์ดังกล่าวถูกบันทึกไว้ได้ในวิดีโอ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายหาดใกล้ท่าเรือประมงสึตซึอิชิ เมืองอิโตอิกาวะ (ลิงค์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างวิดีโอในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพจาก Google Street View ในเมืองอิโตอิกาวะ (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อแสดงให้เห็นลักษณะที่คล้ายกัน:

Image
เปรียบเทียบระหว่างวิดีโอในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพจาก Google Street View ในเมืองอิโตอิกาวะ (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อแสดงให้เห็นลักษณะที่คล้ายกัน:

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะที่นี่ และ นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา