ไทยเป็นเจ้าหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ก่อนรัฐบาลประยุทธ์กว่าทศวรรษ
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 20 กันยายน 2023 เวลา 11:26
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: Panisa AEMOCHA, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
“ไทยเป็นเจ้าหนี้ในกองทุนโลก IMF ไม่ใช่ลูกหนี้ IMF เหมือนอย่างอดีต ผลงาน รปภ. ลุงตู่” คำบรรยายส่วนหนึ่งของโพสต์เท็จในเฟซบุ๊กระบุเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566
โพสต์ดังกล่าวยังแชร์รูปอดีตนายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากแพ้เลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยพรรคก้าวไกลได้คะแนนสนับสนุนเสียงส่วนใหญ่จากคนรุ่นใหม่และประชาชนที่ไม่พอใจผลงานของรัฐบาลทหารที่ครองอำนาจมานานเกือบสิบปี
อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการปฏิรูปกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์และการทลายทุนผูกขาดของพรรคก้าวไกล ได้ส่งผลให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ถูกขัดขวางจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
สถานการณ์นี้เปิดทางให้พรรคอันดับที่สองอย่างพรรคเพื่อไทยก้าวขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคการเมืองของประยุทธ์เป็นพันธมิตร
โพสต์เท็จที่อ้างว่าไทยกลายเป็นผู้ปล่อยกู้ให้กับ IMF ในช่วงรัฐบาลประยุทธ์นั้นยังถูกแชร์ในเฟซบุ๊ก ติ๊กตอก และ บล็อก
ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้แสดงความคิดเห็นที่ชี้ให้เห็นว่า พวกเขาเชื่อคำกล่าวอ้างดังกล่าว
"ลุงตู่ไม่ใช่แค่ไม่สร้างหนี้ แต่ยังทำให้เราเป็นเจ้าหนี้ IMF ลุงตู่ทำดีที่สุดแล้ว" ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์รายหนึ่งเขียนแสดงความคิดเห็น โดยระบุชื่อเล่นของประยุทธ์ที่รู้จักกันโดยทั่วไปในหมู่คนไทย
ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์อีกหลายคนยังเขียนแสดงความคิดเห็นว่า "เยี่ยมมาก" "เก่งมาก" และ "รักลุงตู่"
ไทยเป็นเจ้าหนี้ก่อนรัฐบาลประยุทธ์
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของ IMF มานานกว่าทศวรรษก่อนประยุทธ์จะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2557 - 2566
โฆษกของ IMF กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นสมาชิกของแผนธุรกรรมทางการเงิน (FTP) ของ IMF ตั้งแต่เดือนกันยายน 2546 (ลิงค์บันทึก)
"ยอดเงินโควต้าคงเหลือของประเทศสมาชิก FTP สามารถใช้เพื่อปล่อยกู้ได้ และนี่เป็นต้นกำเนิดของการเรียกสถานะ 'เจ้าหนี้' ของกองทุนฯ" โฆษก IMF กล่าวกับ AFP เมื่อ 20 กันยายน
ประเทศไทยเคยเป็นหนี้ IMF ราว 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2540 หลังรัฐบาลไทย ณ ขณะนั้นกู้เงินมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยหนี้ดังกล่าวถูกจ่ายคืนทั้งหมดในปี 2546 ภายใต้รัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร (ลิงค์บันทึกที่นี่ และ นี่)
รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทยเผยให้เห็นหลักฐานการส่งเงินสนับสนุนไอเอ็มเอฟตั้งแต่ปี 2546 (ลิงค์บันทึก)
โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวกับ AFP เมื่อ 18 กันยายนว่า เม็ดเงินสมทบแทบทั้งหมดเป็นสัดส่วนของเงินสมทบโควต้า ซึ่งเป็นทรัพยากรหลักของ IMF
ธนาคารแห่งประเทศไทยเสริมอีกว่า ยังมีส่วนที่เป็นสัญญากู้แบบพหุภาคี (New Arrangements to Borrow: NAB) ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2554 และสัญญากู้แบบทวิภาคี (Bilateral Borrowing Agreement: BBA) ซึ่งเริ่มขึ้นสองปีให้หลัง (ลิงค์บันทึกที่นี่ และ นี่)
"ประเทศสมาชิกที่ถูกดึงเม็ดเงินไปภายใต้ NAB และ BBA ก็นับเป็น 'เจ้าหนี้' เช่นเดียวกัน" โฆษก IMF กล่าว
ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับโครงการพัฒนาประเทศ ซึ่งถูกอ้างว่าเป็นผลงานของประยุทธ์ที่นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา