ภาพแผ่นดินไหวในตุรกีกับญี่ปุ่นถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเหตุแผ่นดินไหวในโมร็อกโกในเดือนกันยายน 2566

  • เผยแพร่ วัน 21 กันยายน 2023 เวลา 11:11
  • อัพเดตแล้ว วัน 21 กันยายน 2023 เวลา 11:39
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
  • แปลและดัดแปลง โดย Chayanit ITTHIPONGMAETEE
ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์แชร์ภาพถ่ายชุดหนึ่งพร้อมคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นภาพความเสียหายจากแผ่นดินไหวโมร็อกโกในช่วงเดือนกันยายน ปี 2566 ที่มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 คน อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายเหล่านี้เป็นภาพจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในตุรกีและญี่ปุ่น

"Pray for Morocco เมื่อคืนนี้ที่ Marrakech โมรอคโค เกิดเหตุแผ่นดินไหว 6.8-7 ริคเตอร์ ตึกอาคารถล่มเสียหายรุนแรง เสียชีวิตแล้วพันกว่าคน" โพสต์เฟซบุ๊กโพสต์หนึ่งระบุเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2566

โพสต์ดังกล่าวประกอบด้วยภาพถ่าย 5 รูป รวมถึงภาพถ่ายจากมุมสูงที่แสดงให้เห็นซากอาคารและเรือที่ได้รับความเสียหายเกยตื้นบนชายฝั่ง

"รวมภาพเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 6.8 ลคก 18.5 ก.ม. รุนแรงสุดในรอบ 138 ปีเมื่อคืนตอนตี 3 เมือง #marrakech มาราเกช์ เมืองมรดกโลก #morocco" อีกโพสต์เฟซบุ๊กหนึ่งระบุคำบรรยายประกอบวิดีโอ

Image
โพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

"วิปโยค!แผ่นดินไหว โมร็อกโก ยอดผู้เสียชีวิตพุ่ง2,100ราย ภัยพิบัติใหญ่ แห่ช่วยเหลือ" อีกโพสต์เฟซบุ๊กเขียนคำบรรยายประกอบวิดีโอที่แสดงให้เห็นภาพซากปรักหักพังของอาคาร

Image
โพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

ภาพถ่ายและคำกล่างอ้างเหล่านี้ถูกแชร์หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.8 แมกนิจูดในประเทศโมร็อกโก ใกล้กับศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางตอนใต้อย่างเมืองมาร์ราเกชเมื่อวันที่ 8 กันยายน คร่าชีวิตผู้คนไปเกือบ 3,000 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 5,600 ราย นับว่าเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในโมร็อกโก

ในปัจจุบัน ยังไม่ทราบจำนวนผู้ประสบภัยที่ไร้บ้านเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ ที่สร้างความเสียหายให้กับหมู่บ้านหลายแห่งในบริเวณเทือกเขาแอตลาสของโมร็อกโก

โพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดที่คล้ายๆ กันนี้ยังแชร์รูปภาพดังกล่าวที่นี่ นี่ และ นี่ และในประเทศพม่าที่นี่ นี่ และ นี่

อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายสองภาพนั้นเป็นภาพเก่า และถูกถ่ายจากประเทศอื่น

ภาพแผ่นดินไหวเก่าที่ไม่เกี่ยวข้องกับโมร็อกโก

การค้นหาภาพถ่ายแบบย้อนหลังในกูเกิ้ลพบว่า ภาพถ่ายในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดนั้นถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์ Associated Press (AP) เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2023 (ลิงค์บันทึก)

ภาพถ่ายนี้มีชื่อว่า "แผ่นดินไหวในซีเรียและตุรกี" โดยให้เครดิตภาพถ่ายกับนักข่าวชื่อ Ahmet Akpolat

ส่วนหนึ่งของคำบรรยายใต้ภาพระบุว่า "ภาพถ่ายทางอากาศเมื่อวันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ 2023 แสดงให้เห็นความเสียหายในเมืองคาห์รามานมารัส ทางตอนใต้ของตุรกี"

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ประชาชนกว่า 50,000 คนในตุรกีและซีเรียเสียชีวิตหลังเกิดแผ่นดินไหวระดับ 7.8 ริกเตอร์ในทั้งสองประเทศ

ด้านล่างนี้คือการเปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด โดยภาพถูกพลิกไปอีกด้าน (ซ้าย) และภาพถ่ายของสำนักข่าว AP (ขวา):

Image
เปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายต้นฉบับของสำนักข่าว AP (ขวา)

อีกภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นเรือได้รับความเสียหายนั้นก็เป็นภาพที่ถูกเผยแพร่โดยสำนักข่าว AP เช่นกัน

การค้นหาภาพถ่ายแบบย้อนหลังในกูเกิ้ลพบว่า เว็บไซต์ของสำนักข่าว AP เผยแพร่ภาพถ่ายดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2554 เพียงหนึ่งวันหลังเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิ ที่สร้างความเสียหายมหาศาลให้กับพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น คลื่นสึนามิดังกล่าวยังก่อให้เกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ-ไดอิจิอีกด้วย

"เรือที่ถูกคลื่นยักษ์สึนามิซัดลอยเกยตื้นอยู่ใกล้ท่าเรือในเมืองเคเซนนุมะ จังหวัดมิยากิ เมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 12 มีนาคม 2554 หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดเมื่อวันศุกร์ ณ ชายฝั่งตะวันออกของประเทศญี่ปุ่น" คำบรรยายภาพระบุ

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพต้นฉบับของสำนักข่าว AP (ขวา):

Image
เปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพต้นฉบับของสำนักข่าว AP (ขวา)

ภาพถ่ายจากแผ่นดินไหวในโมร็อกโก

ส่วนภาพบางภาพในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดเป็นภาพจริงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในโมร็อกโกปี 2566

ภาพถ่ายของผู้ประสบภัยนอนอยู่บนเตียงพยาบาลในที่กลางแจ้งนั้น ถูกเผยแพร่พร้อมกับรายงานสถานการณ์ภัยพิบัติดังกล่าว เช่น สำนักข่าวอาหรับ 7eNews เมื่อวันที่ 9 กันยายน (ลิงค์บันทึก)

สำนักข่าวเลบานอน Bint Jbeli News ได้เผยแพร่ภาพถ่ายดังกล่าวในบัญชีอินสตาแกรม โดยระบุว่าเป็นภาพผู้ประสบภัยอพยพออกจากโรงพยาบาลในเมืองมาร์ราเกช เนื่องจากหวาดกลัวว่าอาจเกิดแผ่นดินไหวต่อเนื่องหรืออาฟเตอร์ช็อค (ลิงค์บันทึก)

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่สำนักข่าว Bint Jbeli News แชร์ทางอินสตาแกรม:

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่สำนักข่าว Bint Jbeli News แชร์ทางอินสตาแกรม

ส่วนภาพนี้เป็นภาพถ่ายที่สำนักข่าว AFP เผยแพร่เมื่อวันที่ 9 กันยายน (ลิงค์บันทึก)

คำบรรยายระบุว่าภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นประชาชนในโมร็อกโกกำลังหลบภัยบริเวณจัตุรัสเมืองหลังเกิดแผ่นดินไหว

Image
ประชาชนในโมร็อกโกหลบภัยบริเวณจัตุรัสเมืองหลังเกิดแผ่นดินไหวในเมืองมาร์ราเกช เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2566 (ภาพถ่ายโดย Fadel Senna / AFP)

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา