ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์บิดเบือนผลงานวิจัยสหรัฐฯ เรื่องการพบไมโครพลาสติกในกระแสเลือด

ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของไทยแชร์คำกล่าวอ้างเท็จว่า งานวิจัยของสหรัฐอเมริกาพบอนุภาคพลาสติกในกระแสเลือดของคนที่ทานอาหารจากภาชนะที่ผ่านการอุ่นร้อนด้วยเตาไมโครเวฟ อย่างไรก็ตาม หนึ่งในผู้เขียนงานวิจัยกล่าวกับ AFP ว่า ทีมวิจัยของเขาไม่ได้ตรวจสอบเรื่องอนุภาคพลาสติกในกระแสเลือดของมนุษย์ผ่านการทานอาหารจากภาชนะที่นำไปอุ่นร้อนด้วยไมโครเวฟ ขณะที่งานวิจัยชิ้นอื่นที่ใช้หนูในการทดลองพบว่าไมโครพลาสติกที่ผ่านเข้าสู่ร่างกายด้วยการรับประทานจะสะสมอยู่ตามอวัยวะบางส่วนของมนุษย์ ทั้งนี้ พวกเขาไม่ได้ทำการทดลองกับมนุษย์แต่อย่างใด

"นักวิจัยสหรัฐฯเผย พบไมโครพลาสติก จากการเวฟอาหาร" กราฟฟิคข้อความในโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จระบุเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566

คำบรรยายของโพสต์ดังกล่าวเขียนว่า "77 เปอร์เซนต์ของผู้เข้ารับการทดสอบมีไมโครพลาสติกในเลือด"

"บางเคสมีไมโครพลาสติกถึง 4 ล้านชิ้น และนาโนพลาสติก 2 พันล้านชิ้น"

โพสต์เท็จนี้ระบุว่า การเจอชิ้นส่วนพลาสติกในเลือดอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อไต เนื่องจาก "75 เปอร์เซนต์ของเซลล์ไต ถูกทำลายเมื่อสัมผัสกับไมโครพลาสติก"

โพสต์ดังกล่าวยังแนบลิงค์ข่าวที่เผยแพร่ในเว็บไซต์กระปุก (ลิงค์บันทึก)

เว็บไซต์ดังกล่าวอ้างอิงงานวิจัยจากสหรัฐฯ หัวข้อ "การประเมินการปลดปล่อยไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกจากภาชนะพลาสติกและถุงใส่อาหารแบบใช้ซ้ำ: ผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์" (ลิงค์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

โพสต์เท็จที่ใกล้เคียงกันเกี่ยวกับงานวิจัยดังกล่าวยังถูกเผยแพร่บนเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ และ นี่

อย่างไรก็ตาม คาซี อัลบับ ฮุสเซน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเนบราสกา-ลินคอล์น ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียนงานวิจัยดังกล่าว ยืนยันกับ AFP ว่า งานวิจัยดังกล่าวไม่ได้ตรวจสอบระดับอนุภาคพลาสติกในกระแสเลือด

เขาให้สัมภาษณ์กับ AFP เมื่อวันที่ 25 กันยายนว่า งานวิจัยของเขาศึกษาเรื่องการปลดปล่อยไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกจากภาชนะในสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น การอุ่นร้อนด้วยไมโครเวฟ การแช่ในตู้เย็น และการเก็บที่ระดับอุณหภูมิห้อง

ทีมนักวิจัยพบว่า ภาชนะพลาสติกนั้นปลดปล่อยไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกออกมาในน้ำที่ผ่านการกำจัดไอออนต่างๆ ออกแล้ว หรือที่รู้จักกันในชื่อ 'deionised water' ซึ่งผสมกับกรดน้ำส้มด้วยความเข้มข้น 3% ซึ่งส่วนผสมดังกล่าวเป็นสารละลายที่เป็นตัวแทนอาหาร (food stimulant)

ฮุสเซนกล่าวว่างานวิจัยดังกล่าว "ไม่ได้ทดสอบปริมาณไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกในเลือดมนุษย์"

ทดลองนอกร่างกายมนุษย์

คำกล่าวอ้างที่ระบุว่าพบไมโครพลาสติกในกระแสเลือดของผู้เข้ารับการทดลอง 77% นั้น ที่จริงแล้ว มาจากงานวิจัยอีกฉบับหนึ่ง โดยเป็นการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเสรีอัมสเตอร์ดัม (Vrije Universiteit Amsterdam) ที่ตีพิมพ์ในเดือนพฤษภาคม 2565 (ลิงค์บันทึก)

ทั้งนี้ งานวิจัยฉบับดังกล่าวไม่ได้กล่าวว่าพลาสติกที่พบในเลือดนั้นมาจากการรับประทานอาหารผ่านภาชนะที่อุ่นด้วยไมโครเวฟ

ลูคัส เคนเนอร์ ศาสตราจารย์ภาควิชาพยาธิวิทยาจากมหาวิทยาลัยการแพทย์แห่งเวียนนา กล่าวกับ AFP ว่า อนุภาคขนาดเล็ก รวมถึงไมโครพลาสติก มีคุณสมบัติในการ "ผ่านจากลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด และอาจเดินทางผ่านทางลำไส้เข้าสู่อวัยวะอื่นได้"

เคนเนอร์เป็นหนึ่งในผู้เขียนงานวิจัยในปี 2566 ที่พบอนุภาคโพลีสไตรีนขนาดนาโนเมตรในสมองของหนูภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากที่พวกมันได้รับน้ำที่มีอนุภาคดังกล่าวอยู่ (ลิงก์ที่เก็บถาวร)

เคนเนอร์กล่าวต่อถึงงานศึกษาอีกฉบับในปี 2560 ที่พบว่ามีไมโครพลาสติกไปสะสมอยู่ในตับ ไต และลำไส้ของหนูที่ได้รับน้ำที่ผสมกับอนุภาคพลาสติก (ลิงก์ที่เก็บถาวร)

อย่างไรก็ตาม การทดลองในงานศึกษานี้อ้างอิงจาก "การทดลองในหลอดแก้ว" ซึ่งหมายความว่าไม่ได้เป็นการทดลองในมนุษย์

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา