ผู้เชี่ยวชาญชี้เปลือกกล้วยเปลี่ยนเป็นสีดำตามธรรมชาติ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปรสิตตามคำกล่าวอ้างเท็จ

  • เผยแพร่ วัน 24 ตุลาคม 2023 เวลา 08:18
  • อัพเดตแล้ว วัน 24 ตุลาคม 2023 เวลา 08:22
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: Panisa AEMOCHA, AFP ประเทศไทย
ผู้เชี่ยวชาญชี้แจงว่า เปลือกกล้วยสามารถเปลี่ยนเป็นสีดำตามกระบวนการตามธรรมชาติได้เมื่อผลไม้สุกจัด ไม่ใช่เพราะ "ปรสิต" ตามที่ถูกแชร์ในโพสต์เท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทย โดยโพสต์เหล่านี้แชร์ข้อความเท็จพร้อมวิดีโอที่แสดงให้เห็นบุคคลหนึ่งกำลังตัดเนื้อส่วนหนึ่งจากกล้วยที่มีเปลือกสีดำ ก่อนนำไปขยายด้วยกล้องจุลทรรศน์ นอกจากนี้ นักกีฏวิทยากล่าวกับ AFP ว่า สิ่งมีชีวิตที่เห็นจากกล้องจุลทรรศน์นั้นน่าจะเป็นตัวอ่อนของแมลงวันผลไม้ซึ่งไม่มีพิษ และไม่ใช่ปรสิตตามคำกล่าวอ้าง

คำบรรยายวิดีโอตอนหนึ่งจากโพสต์เท็จที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊กที่นี่ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 ระบุว่า: "นักวิทยาศาตร์ของประเทศจีนเพิ่งค้นพบว่าต้นเหตุที่ทำให้กล้วยเปลี่ยนสีนั้นเป็นเพราะมีปรสิต (พยาธิ) ของตัวหนอนแมลงวัน ฟักตัวอยู่ในเนื้อกล้วยครับท่าน"

คำบรรยายระบุต่อว่า การทานกล้วยที่มีเปลือกสีดำ "เป็นอันตรายมาก" และ "เวลาทานกล้วยสุกงอมแบบนี้ ท้องจะเสียตลอดทุกครั้งที่ทาน"

วิดีโอความยาว 29 วินาทีได้แสดงให้เห็นบุคคลหนึ่งกำลังหั่นเนื้อบางๆ จากกล้วยที่มีเปลือกสีดำ ก่อนที่จะนำตัวอย่างนั้นไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ โดยภาพจากกล้องจุลทรรศน์แสดงให้เห็นสิ่งที่คล้ายสิ่งมีชีวิตใต้ชิ้นกล้วยดังกล่าว

คลิปดังกล่าวยังมีอักษรภาษาจีนตัวย่อฝังอยู่ด้วย โดยข้อความในวิดีโอระบุว่า: "มันน่ากลัวมากเมื่อคุณนำกล้วยไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ กล้วยที่เปลี่ยนเป็นสีดำและนิ่มแล้วยังกินอยู่ได้ไหม"

ข้อความกล่าวต่อไปว่า กล้วยที่เปลือกเปลี่ยนเป็นสีดำยังสามารถรับประทานได้ "หากเนื้อด้านในยังปกติ" อย่างไรก็ดี หากด้านในและด้านนอกเป็นสีดำ ไม่สมควรทาน และควรโยนทิ้งทันที

ข้อความภาษาจีนกล่าวเพิ่มว่า กล้วยที่มีสีดำและเน่าเสียจะกลายเป็นพื้นที่เพาะพันธุ์ชั้นดีให้กับสิ่งมีชีวิต ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้สามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์

"กล้วยที่มีสีดำและเน่าเสียก็คือกล้วยที่มีการปนเปื้อนทั้งลูก" ข้อความภาษาจีนเสริม

Image
ภาพถ่ายหน้าจอจากโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

คำกล่าวอ้างคล้ายนี้ยังถูกแชร์ในเฟซบุ๊กที่นี่ และนี่ ในติ๊กตอกที่นี่ และ นี่

คอมเมนต์ใต้ในโพสต์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามีผู้ใช้งานส่วนหนึ่งที่เชื่อคำกล่าวอ้างเท็จนี้

"ชีวิตอยู่อย่างไรให้ปลอดภัยต้องอ่านให้รู้ " คอมเมนต์หนึ่งระบุ

ผู้ใช้งานอีกรายระบุว่า: "หลงกินอยู่บ่อยๆ เพราะรสชาติอร่อยและหวาน"

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวกับ AFP ว่า สีของเปลือกกล้วยที่เปลี่ยนไปนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากปรสิต โดยเปลือกที่เปลี่ยนเป็นสีดำสามารถทานได้อย่างปลอดภัย ตราบใดที่กล้วยผลนั้นไม่ได้ปนเปื้อนจากแมลงวันผลไม้

กระบวนการตามธรรมชาติ

ดร.ศศิวิมล แสวงผล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ของภาควิชาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวกับ AFP ว่า การเปลี่ยนสีของเปลือกกล้วยนั้นเป็นเรื่องปกติ และไม่ได้เกี่ยวข้องกับปรสิตแต่อย่างใด (ลิงค์บันทึก)

"เปลือกกล้วยนั้นเปลี่ยนเป็นสีดำได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ" เธอกล่าวเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม "เมื่อเซลล์ฉีกขาด เอนไซม์ในเซลล์ก็จะสัมผัสอากาศและเปลี่ยนเป็นสีดำ ซึ่งพบได้ทั่วไปในผลไม้ และพืชต่างๆ"

ดร.เบญจคุณ แสงทองพราว นักกีฏวิทยาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวกับ AFP ว่า เปลือกของกล้วยที่เปลี่ยนเป็นสีดำนั้นเป็น "กระบวนการปกติ" (ลิงค์บันทึก)

โดยเบญจคุณเสริมว่ากล้วยที่สุกแล้วอาจดึงดูดแมลงวันผลไม้ ซึ่งพวกมันจะมาวางไข่อยู่บนเปลือกกล้วย

และเมื่อไข่ของแมลงวันผลไม้ฟักตัว พวกมันจะเติบโตเป็นตัวอ่อนที่จะชอนไชเข้าไปยังเนื้อกล้วย และ "ทำให้มันเน่าเร็วขึ้น" เธอกล่าวเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม

"กระบวนการนี้เปิดช่องให้เชื้อโรคก่อตัวอยู่ที่บริเวณเปลือกกล้วย โดยเฉพาะเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียที่สามารถเข้าไปในด้านในของเปลือกกล้วยผ่านรูที่หนอนเจาะชอนไชเข้าไป" เบญจคุณกล่าว และเสริมว่า การทานกล้วยที่มีเชื้อปนเปื้อนอาจนำไปสู่อาการไม่พึงประสงค์ เช่น ท้องเสีย

อย่างไรก็ดี เบญจคุณย้ำว่า อันตรายที่มาจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่อยู่บนผิวของเปลือกกล้วยนั้นไม่ได้เกิดจากแมลง

ดร.ทวี สายวิชัย จากภาควิชาปรสิตวิทยาและกีฏวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมว่า "เชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคท้องเสียเช่น ซาลโมเนลา (Salmonella) อีโคไล (E. coli) และลิสทีเรีย (Listeria) สามารถเข้าสู่ผลกล้วยได้ด้วยพาหะอย่างแมลงวันผลไม้" (ลิงค์บันทึก)

ตัวอ่อนแมลงวันผลไม้

ทั้งเบญจคุณและทวีต่างยืนยันกับ AFP ว่า สิ่งมีชีวิตที่เห็นในคลิปวิดีโอที่แพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์นั้นไม่ใช่ปรสิต

เบญจคุณกล่าวว่า: "จากภาพใต้กล้องจุลทรรศน์ เราจะเห็นว่าหนอนแมลงหวี่มีขนาดเล็กมาก และหนอนมีแผ่นปากสีดำที่เรียกว่าส่วนปาก (mouth hook) อยู่สองแผ่นที่ปลายส่วนหัว สามารถยืดและหดได้ ... ส่วนด้านข้างของลำตัวหนอนนั้นจะมีรูหายใจ มีอยู่ โดยท่อหายใจจะพาดตามลำตัวและทำหน้าที่เชื่อมรูหายใจหนึ่งไปยังอีกรูหายใจหนึ่งที่อยู่ที่ปลายลำตัว"

"นี่เป็นลักษณะสำคัญของหนอนแมลงวัน"

ทวีกล่าวว่า แม้จะไม่สามารถยืนยันสิ่งมีชีวิตที่เห็นในคลิปวิดีโอได้ แต่ภาพที่เห็นนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับตัวอ่อนของแมลงวันผลไม้

"ตัวอ่อนนี้ไม่ใช่หนอนพยาธิ และไม่สามารถก่อโรคได้" เขากล่าว

"พวกมันมีแนวโน้มที่จะเป็นตัวอ่อนของแมลงวันผลไม้ และตัวอ่อนของแมลงวันนี้ไม่สามารถก่อโรคแผลหนอนแมลงวัน (Myiasis) ที่ตัวอ่อนแมลงวันเข้าไปชอนไชผิวหนังมนุษย์ได้"

เบญจคุณกล่าวเสริมว่า แม้เปลือกกล้วยจะมีสีดำ แต่ถ้าไม่มีแมลงวันผลไม้ตอมบริเวณรอบๆ กล้วยก็ถือว่า "ปลอดภัยที่จะทาน" กล้วยผลนั้น

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา