เจ้าหน้าที่ระบุราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียไม่ได้ยกเลิกวีซ่าคนไทย
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 28 ธันวาคม 2023 เวลา 09:09
- อัพเดตแล้ว วันที่ 2 มกราคม 2024 เวลา 04:02
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: Panisa AEMOCHA, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
ข้อความส่วนหนึ่งที่ปรากฎอยู่บนวิดีโอที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จบนแพลตฟอร์มติ๊กตอก เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 ระบุว่า "ประเทศซาอุยกเลิกวีซ่าคนไทยทั้งหมด" วิดีโอนี้มีผู้รับชมมากกว่า 320,000 ครั้ง
โพสต์ดังกล่าวอ้างต่อว่า รัฐบาลซาอุฯ เดินหน้ามาตรการถอนวีซ่านี้ภายหลังจากที่พลเมืองไทยจำนวนหนึ่งซึ่งถูกจับเป็นตัวประกันโดยกลุ่มก่อการร้ายฮามาสได้รับการปล่อยตัวและเดินทางกลับไทย โดยพลเมืองไทยเหล่านี้สวมใส่เสื้อที่มีธงชาติไทยและอิสราเอล
กลุ่มติดอาวุธอามาสโจมตีพื้นที่ทางตอนใต้ของอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม จนนำไปสู่การเสียชีวิตของประชาชนราว 1,140 คน ส่วนใหญ่เป็นเพียงพลเมืองธรรมดา ตามรายงานของ AFP ที่อ้างอิงตัวเลขจากอิสราเอล กลุ่มก่อการร้ายยังได้จับตัวประกันไปอีกราว 250 คน ในจำนวนนี้ ตัวประกันราว 129 คน ยังถูกควบคุมตัวอยู่ ตามข้อมูลจากรัฐบาลอิสราเอล
กระทรวงต่างประเทศของไทยแถลงว่า มีพลเมืองไทยจำนวน 32 คน ที่ถูกจับไปเป็นตัวประกัน ในจำนวนนี้ 23 คน ได้รับความช่วยเหลือแล้ว
รัฐบาลอิสราเอลตอบโต้กลับกลุ่มติดอาวุธฮามาสอย่างไม่ลดละ โดยโจมตีจากทั้งทางอากาศและภาคพื้นดิน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 21,000 ราย ในจำนวนนี้ราวสองในสามเป็นผู้หญิงและเด็ก ตามแถลงจากกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ฉนวนกาซาที่มีกลุ่มฮามาสเป็นผู้ปกครอง
โพสต์ที่คล้ายคลึงกันเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างเรื่องราชอาณาจักรซาอุฯ ยกเลิกวิซ่าคนไทยยังถูกแชร์บนเฟซบุ๊กที่นี่และนี่
โพสต์เหล่านี้อ้างว่าการที่ตัวประกันคนไทยสวมใส่เสื้อที่มีธงชาติอิสราเอล ทำให้รัฐบาลซาอุฯ ซึ่งประณามการกระทำของอิสราเอลในพื้นที่ฉนวนกาซา เกิดความไม่พอใจ
ราชอาณาจักรซาอุฯ และประเทศไทยเพิ่งฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อเดือนมกราคม 2565
ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศอยู่ในภาวะชะงักงันเป็นเวลาหลายทศวรรษ จากประเด็น "เพชรบลูไดมอนด์" ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อ เกรียงไกร เตชะโม่ง แรงงานไทยซึ่งทำงานในพระราชวังของเจ้าชายซาอุฯ โจรกรรมเพชร ทอง และอัญมณี เมื่อปี 2532
รัฐบาลซาอุฯ ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบในปี 2533 แต่เขาก็หายสาบสูญระหว่างพักอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ไม่กี่วันหลังจากที่ทูตสามคนของซาอุฯ ถูกสังหารกลางเมือง
เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยได้ส่งคืนอัญมณีส่วนหนึ่งในทางการซาอุฯ แต่ได้รับคำตอบกลับมาว่าเป็นของปลอม ขณะที่ไม่มีการตามหาเครื่องเพชรชิ้นสำคัญที่ประดับด้วยเพชรสีน้ำเงินหรือบลูไดมอนด์ถึง 50 กะรัต พบ
นายเกรียงไกรได้รับโทษจำคุก 5 ปี จากข้อหาลักทรัพย์และนำทรัพย์ที่ได้มาไปขาย เมื่อพ้นโทษเขาบวชเป็นพระในปี 2559
ไม่มีการยกเลิกวีซ่า
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยต่างออกมาปฎิเสธคำกล่าวอ้างเท็จนี้
ตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด กล่าวกับ AFP เมื่อ 20 ธันวาคม ว่า: "คำกล่าวอ้างว่าซาอุดีอาระเบียได้ยกเลิกวีซ่าสำหรับคนไทยทั้งหมดนั้น ไม่เป็นความจริง"
ปัจจุบันสถาทูตฯ ระบุว่ามีคนไทยอาศัยอยู่ในซาอุฯ ราว 8,700 คน
กระทรวงต่างประเทศของไทยได้ออกมาปฎิเสธคำกล่าวอ้างเท็จนี้เช่นเดียวกันผ่านศูนย์ต่อต้าข่าวปลอม เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม (ลิงก์บันทึก)
แถลงการณ์ระบุว่า: "ไม่มีประกาศยกเลิกออกวีซ่าดังที่กล่าวอ้าง"
การค้นหาข้อมูลบนเว็บไซต์จองสถานทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทยไม่พบประกาศดังคำกล่าวอ้าง (ลิงก์บันทึกที่นี่และนี่)
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังอยู่ในรายชื่อประเทศที่พลเมืองสามารถยื่นเรื่องวีซ่าอิเล็กทรอนิกส์บนเว็บไซต์ทางการของซาอุฯ ได้ ที่นี่ (ลิงก์บันทึก)
วีซ่าเยี่อมเยือนนี้สามารถใช้เพื่อการท่องเที่ยวพักผ่อน เพื่อการเดินทางทางธุรกิจ เพื่อเยี่ยมเยือนครอบครัวหรือญาติ และเพื่อร่วมพิธี Umrah ได้ (ลิงก์บันทึก)
สงครามในกาซาทำให้เกิดคลื่นข่าวปลอมไปทั่วโลก อ่านรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของ AFP ได้ที่นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา