วิดีโอเก่าแสดงชายชาวปาเลสไตน์เผชิญหน้ากับทหารอิสราเอล ไม่ใช่ 'นักแสดง' แกล้งบาดเจ็บ

ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้แชร์วิดีโอชายสูงวัยชาวปาเลสไตน์ล้มลงต่อหน้าทหารอิสราเอล พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเขาแกล้งบาดเจ็บเพื่อให้ดูเหมือนว่าถูกทหารอิสราเอลทำร้าย คำกล่าวอ้างดังกล่าวนับว่าเป็นข้อมูลบิดเบือนชิ้นล่าสุดที่กล่าวหาพลเมืองว่าแสร้งบาดเจ็บในช่วงสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส อย่างไรก็ตาม คลิปวิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2558 และรายงานข่าวระบุว่าเขาเป็นลมหมดสติระหว่างเผชิญหน้ากับกลุ่มทหารที่ควบคุมพื้นที่ในเขตเวสต์แบงก์

"เอิ่ม.. พี่เล่นง่ายไปหน่อยมั้ยครับ.. เหนื่อยใจกับ #Pallywood มูลค่าการผลิตเริ่มน้อยลงทุกวัน คือไม่อาย IDF ที่อยู่ตรงนั้นเลยใช่มั้ยพี่" ผู้ใช้งาน X (เดิมชื่อทวิตเตอร์) เขียนคำบรรยายเป็นภาษาไทยเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566

โพสต์ดังกล่าวระบุถึงคำว่า "ปาลลีวู้ด" (Pallywood) ศัพท์สแลงที่รวมคำว่า "ฮอลลีวู้ด" (Hollywood) และ "ปาเลสไตน์" (Palestine) เข้าด้วยกัน ซึ่งหมายถึงนักแสดงชาวปาเลสไตน์ที่จัดฉากหรือสร้างสถานการณ์ที่เกินจริงเพื่อเรียกร้องความสนใจจากชาวโลก

โพสต์ดังกล่าวแชร์วิดีโอฉบับหนึ่งที่เผยให้เห็นชายสูงวัยคนหนึ่งตะโกนใส่ทหารอิสราเอล ก่อนเขาจะล้มลงบนพื้น

โพสต์ดังกล่าวมีผู้ชมกว่า 190,000 คน ถูกรีโพสต์มากกว่า 160 ครั้งและกดถูกใจราว 390 ครั้ง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

วิดีโอและคำกล่าวอ้างที่คล้ายๆ กัน ถูกแชร์ในโพสต์ภาษาไทยบนติ๊กตอกที่นี่ และในภาษาอังกฤษที่นี่ และ นี่

ทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับ "นักแสดงสร้างสถานการณ์" คล้ายๆ กันนี้ กล่าวหาว่าประชาชนในอิสราเอลและฉนวนกาซาแกล้งทำเป็นบาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยคำกล่าวอ้างดังกล่าวได้แพร่กระจายไปทั่วสื่อสังคมออนไลน์ตั้งแต่กลุ่มติดอาวุธฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 เหตุการณ์ครั้งนี้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 1,200 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเมือง และจับตัวประกันไปราว 240 ราย ทางการของอิสราเอลระบุ

อิสราเอลตอบโต้กลุ่มฮามาสด้วยการโจมตีทางอากาศและภาคพื้นดิน ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 18,700 ราย โดยร้อยละ 70 เป็นผู้หญิง เด็ก และวัยรุ่น กระทรวงสาธารณสุขที่ดำเนินการโดยกลุ่มฮามาสระบุ

ในขณะเดียวกัน สถานการณ์ความขัดแย้งได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในเขตเวสต์แบงก์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกอิสราเอลยึดครองตั้งแต่ปี 2510

อย่างไรก็ตาม วิดีโอดังกล่าวไม่ได้แสดงให้เห็นการเผชิญหน้าระหว่างชายชาวปาเลสไตน์กับทหารอิสราเอลเมื่อไม่นานมานี้ ในความเป็นจริงแล้ว วิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน และชายคนดังกล่าวก็ไม่ได้แกล้งโดนทำร้ายแต่อย่างใด

วิดีโอเก่าจากปี 2558

แม้ AFP จะไม่สามารถระบุต้นฉบับของวิดีโอดังกล่าวได้ แต่จากการค้นหาภาพย้อนหลัง AFP ได้พบวิดีโอที่คล้ายกันถูกเผยแพร่โดยสำนักข่าวต่างๆ เช่น ที่นี่ นี่ นี่ และ นี่ ซึ่งเผยให้เห็นการเผชิญหน้ากันของชายชาวปาเลสไตน์และทหารอิสราเอลในมุมที่ต่างออกไปเล็กน้อย

คลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่ในเดือนตุลาคม 2558 เผยให้เห็นชายคนเดียวกัน ซึ่งองค์ประกอบต่างๆ เช่นเสื้อผ้าที่เขาสวมใส่ ทหารที่ยืนอยู่ และขอบถนนแถบเส้นสีแดงขาว ตรงกับคลิปวิดีโอในโพสต์เท็จ (ลิงก์บันทึกที่นี่ นี่ นี่ และ นี่)

 

 

จากรายงานของสื่อ ชายที่เผชิญหน้ากับทหารในเมืองฮีบรอน มีชื่อว่า ซิยาด อาบู ฮาลีล อายุ 65 ปี โดยคลิปได้บันทึกในช่วงที่สถานการณ์ในเขตเวสต์แบงก์กำลังทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากที่ฝ่ายอิสราเอลเข้ายึดครองพื้นที่

หลังฮาลีลตะโกนใส่กลุ่มทหารไปได้สักพัก เขาก็ล้มลง โดยนักข่าวที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้เข้าช่วยเหลือเขาจนกระทั่งรถพยาบาลมาถึง

จากรายงานข่าว ฮาลีลเข้ารับการรักษาและออกจากโรงพยาบาลในเวลาต่อมา โดยเขาได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีราเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย (ลิงก์บันทึก)

การเผชิญหน้าดังกล่าวเกิดขึ้นหลังเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล ประกาศ "สงคราม" ด้วยการเพิ่มบทลงโทษคนที่ขว้างปาหินทำร้ายผู้อื่น ซึ่งส่วนใหญ่คือเยาวชนชาวปาเลสไตน์ ขณะเดียวกันรัฐบาลของเนทันยาฮูก็ได้ออกมาตรการใหม่ที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถยิงผู้ที่ขว้างปาหินได้

สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNOCHA) รายงานว่า สถานการณ์ความรุนแรงในเดือนตุลาคม 2558 ส่งผลให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตกว่า 7,400 ราย โดยจำนวนหนึ่งในนั้นคือประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตเวสต์แบงก์ ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตที่สูงที่สุดที่เคยบันทึกไว้เพียงในเดือนเดียวตั้งแต่ปี 2548 (ลิงก์บันทึก)

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเท็จที่เกี่ยวกับสงครามอิสราเอล-ฮามาส รวมถึงคำกล่าวอ้างเท็จที่เกี่ยวกับ "นักแสดง" สร้างสถานการณ์ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา