นี่คือวิดีโอการฝึกทักษะทางการแพทย์ในปี 2560 ไม่ใช่ชาวปาเลสไตน์ 'แต่งหน้าหลอกชาวโลก' ตามคำกล่าวอ้าง

ในช่วงที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสทวีความรุนแรงขึ้น วิดีโอคลิปหนึ่งถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์พร้อมคำกล่าวอ้างว่าชาวปาเลสไตน์ว่าใช้เลือดปลอมเพื่อ "ทำให้ชาวโลกสงสาร" ซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างเท็จ เพราะในความเป็นจริงแล้ว วิดีโอดังกล่าวเป็นภาพจากกิจกรรมด้านการกุศลในปี 2560 โดยช่างแต่งหน้าจงใจทำแผลปลอมเพื่อให้กลุ่มแพทย์ได้ฝึกทักษะ

ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กบัญชีหนึ่งแชร์วิดีโอเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2566 พร้อมเขียนคำบรรยายภาษาไทยว่า “หลังจากฮามาสบุกโจมตีอิสราเอล และทันทีอิสราเอลประกาศให้ผู้บริสุทธิ์ออกจากปาเลสไตน์ มีรายงาน- ความต้องการช่างแต่งหน้าและนักแสดงเพิ่มขึ้นในฉนวนกาซา ปาเลสไตน์” 

วิดีโอความยาว 55 วินาที ดังกล่าวแสดงภาพเด็กและผู้ใหญ่ถูกแต่งหน้าเพื่อทำให้ดูเหมือนมีบาดแผล ไม่กี่วินาทีต่อมา วิดีโอแสดงให้เห็นช่างแต่งหน้าเทเลือดปลอมลงในภาชนะในสถานที่ที่คล้ายกองถ่ายทำภาพยนตร์

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

"พวกเขาใช้เลือดปลอม และทำแผลที่ไม่ใช่ของจริงอย่างแน่นอน" ข้อความที่ฝังอยู่ในวิดีโอระบุ "ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ชาวโลกสงสารพวกเขา และทำให้อิสราเอลดูไม่ดี"

วิดีโอเดียวกันนี้ยังถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันในภาษาไทยที่นี่ และ นี่

ทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับ "นักแสดงสร้างสถานการณ์" คล้ายๆ กันนี้ กล่าวหาว่าประชาชนในอิสราเอลและฉนวนกาซาแกล้งทำเป็นบาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยคำกล่าวอ้างดังกล่าวได้แพร่กระจายไปทั่วสื่อสังคมออนไลน์ตั้งแต่กลุ่มติดอาวุธฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 เหตุการณ์ครั้งนี้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 1,200 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเมือง และจับตัวประกันไปราว 240 ราย ทางการของอิสราเอลระบุ

อิสราเอลตอบโต้กลุ่มฮามาสด้วยการโจมตีทางอากาศและภาคพื้นดิน ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 18,700 ราย โดยร้อยละ 70 เป็นผู้หญิง เด็ก และวัยรุ่น กระทรวงสาธารณสุขที่ดำเนินการโดยกลุ่มฮามาสระบุ

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ

วิดีโอดังกล่าวไม่ได้แสดงให้เห็นชาวปาเลสไตน์จัดฉากแต่งหน้าและสร้างบาดแผลด้วยเลือดปลอม 

'เทคนิคการถ่ายทำ'

วิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่ไว้ในรายงานข่าวของเดอะกาซาโพสต์ในปี 2560 โดยโลโก้ของเว็บไซต์ข่าวปรากฏอยู่ที่มุมซ้ายบนของวิดีโอ (ลิงก์บันทึก)

14 วินาทีแรกของวิดีโอของกาซาโพสต์ ตรงกับวิดีโอที่เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอในโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และวิดีโอที่กาซาโพสต์เผยแพร่ (ขวา):

Image
เปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอในโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และวิดีโอที่กาซาโพสต์เผยแพร่ (ขวา)

กาซาโพสต์เขียนชื่อวิดีโอว่า "เทคนิคการถ่ายทำ: ศิลปะที่ทำให้โลกในฉนวนกาซาดูแตกต่างออกไป"

วิดีโอดังกล่าวเผยให้เห็นฝีมือของช่างแต่งหน้าในกองถ่ายชื่อ อับเดล บาสเซต เอล ลูลู และ มาเรียม ซาลาห์

นอกจากนี้ วิดีโอคล้ายๆ กันนี้ยังถูกเผยแพร่ออกอากาศโดยสถานีโทรทัศน์ TRT World ของตุรกี โดยเนื้อหาเน้นไปที่ผลงานของซาลาห์ ในฐานะช่างแต่งหน้าหญิงคนหนึ่งในฉนวนกาซาที่ฝีมือหาจับตัวได้ยาก (ลิงก์บันทึก)

การฝึกทักษะทางการแพทย์

ซาลาห์กล่าวว่า วิดีโอที่ปรากฏในรายงานของกาซ่าโพสต์นั้น เป็นกิจกรรมด้านการกุศลในปี 2560 ของ Doctors of the World ซึ่งเป็นองค์กรด้านมนุษยธรรมของประเทศฝรั่งเศส 

"เนื้อหาในวิดีโอนั้นคือการทำแผลปลอม เพื่อให้กลุ่มแพทย์จากองค์กรดังกล่าว ได้ฝึกฝน นี่เป็นกิจกรรมที่พวกเขาจัดขึ้น" เธอกล่าวกับ AFP

เฮบา ฮามาร์นาห์ ผู้ประสานงานภาคสนามของ Doctors of the World ให้สัมภาษณ์กับ AFP ว่า กิจกรรมครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อจำลองอุบัติเหตุบนท้องถนนในฉนวนกาซา “ที่มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 100 ราย”

"ตั้งแต่ปี 2559 เราทำงานกับช่างแต่งหน้าคนเดียวกันให้ทำแผลปลอม เพื่อจำลองสถานการณ์ให้มีความสมจริงยิ่งขึ้น" ฮามาร์นาห์กล่าว

ในช่วง วินาทีที่ 17 ของรายงานข่าวของ TRT World จะเห็นโลโก้ของ Doctors of the World ปรากฏอยู่บนเสื้อของหนึ่งในผู้เข้าร่วมการฝึกอบรม (ลิงก์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของรายงานของ TRT World ที่แสดงให้เห็นโลโก้ของ Doctors of the World ปรากฏอยู่บนเสื้อของหนึ่งในผู้เข้าร่วมการฝึกอบรม

ซาลาห์กล่าวกับ AFP ว่า เธอยังคงทำงานเป็นช่างแต่งหน้าเอฟเฟกต์ในฉนวนกาซา และอธิบายต่อว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รายงานข่าวของกาซาโพสต์ถูกนำมาบิดเบือนข้อเท็จจริง

ในปี 2561 นักตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ Snopes และ France 24 ได้ตรวจสอบวิดีโอเดียวกันนี้ ซึ่งถูกนำไปแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างว่าประชาชนแกล้งทำเป็นได้รับบาดเจ็บในสงครามกลางเมืองในประเทศซีเรีย

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา