วิดีโอนี้แสดงภาพผู้ชุมนุมเผาธงชาติฝรั่งเศสในโมร็อกโก
- เผยแพร่ วัน 27 มิถุนายน 2024 เวลา 08:43
- อัพเดตแล้ว วัน 27 มิถุนายน 2024 เวลา 08:53
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"# สรุปข่าวช่วงเย็น (19/6/2024) ผู้อพยพที่อาศัยอยู่ในฝรั่งเศสได้ออกมาสนับสนุนปาเลสไตน์โดยการเผาธงชาติฝรั่งเศส" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรายหนึ่งแชร์วิดีโอและเขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 โดยโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ในกลุ่มที่มีผู้ติดตามมากกว่า 315,000 คน
วิดีโอในโพสต์ดังกล่าวแสดงภาพผู้หญิงจุดไฟเผาธงกระดาษที่พิมพ์ลายธงชาติฝรั่งเศสในการชุมนุมสนับสนุนปาเลสไตน์
วิดีโอและคำกล่าวอ้างเดียวกันนี้ถูกเผยแพร่ในโพสต์ภาษาไทยที่นี่ และ นี่ และภาษาอังกฤษที่นี่ และ นี่
ความคิดเห็นบางส่วนชี้ให้เห็นว่าผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์บางรายเชื่อว่าวิดีโอดังกล่าวถูกถ่ายระหว่างการชุมนุมในฝรั่งเศส
"ผู้อพยพโปรฮามาสชาวมุสลิมในฝรั่งเศสเผาธงชาติฝรั่งเศสเรียกร้องให้ Free Palestine คุณเข้าใจในหัวคนพวกนี้มั๊ยว่าเขาคิดอะไร" ผู้ใช้งาน X รายหนึ่งแสดงความคิดเห็น
"หญิงชาวปาเลสไตน์เผาธงฝรั่งเศส แต่มาอยู่อาศัยที่ฝรั่งเศสเพื่ออะไร" ผู้ใช้งาน X อีกรายระบุ
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ วิดีโอดังกล่าวมาจากเหตุการณ์การชุมนุมของผู้สนับสนุนปาเลสไตน์ในเดือนตุลาคม 2566 ในประเทศโมร็อกโก
การชุมนุมหน้าสถานกงสุลฝรั่งเศสในโมร็อกโก
การค้นหาภาพย้อนหลังโดยใช้คีย์เฟรมของวิดีโอ พบวิดีโอเดียวกันนี้ถูกเผยแพร่ในช่องยูทูบของทันจา นิวส์ ทีวี (Tanja News TV) ซึ่งเป็นสำนักข่าวในประเทศโมร็อกโก เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 (ลิงก์บันทึก)
คำบรรยายวิดีโอระบุว่า "การเผาธงชาติฝรั่งเศสหน้าสถานกงสุลในเมืองแทนเจียร์"
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และวิดีโอยูทูบที่เผยแพร่โดย Tanja News TV (ขวา):
คลิปในโพสต์เท็จนั้นสอดคล้องกับช่วง 21 วินาทีแรกของคลิปที่เผยแพร่โดย Tanja News TV ซึ่งแสดงให้เห็นผู้ชุมนุมตะโกนประท้วงและโบกธงปาเลสไตน์ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจรายล้อมอยู่
การค้นหาด้วยคำสำคัญในภาษาอาหรับ พบบทความของสำนักข่าวโมร็อกโกชื่อ Achkayen ซึ่งรายงานเกี่ยวกับการชุมนุมครั้งนี้ด้วย (ลิงก์บันทึก)
ส่วนหนึ่งของบทความระบุว่า "ช่วงเย็นวานนี้หรือวันอังคารที่ 24 ตุลาคม กลุ่มผู้สนับสนุนปาเลสไตน์ในกาซารวมตัวกันหน้าสถานกงสุลฝรั่งเศสในเมืองแทนเจียร์ เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านประธานาธิบดีมาครงของฝรั่งเศส และประณามการเดินทางเยือนเมืองเทลอาวีฟของเขา"
บทความยังระบุต่อว่า ผู้ชุมนุมได้เผาธงชาติฝรั่งเศสเพื่อประณามมาครงที่เดินทางไปเยือนอิสราเอลในวันเดียวกัน (ลิงก์บันทึก)
ประธานาธิบดีมาครงเป็นผู้นำกลุ่มชาติตะวันตกคนล่าสุดที่ออกมาสนับสนุนการตอบโต้ของอิสราเอลต่อกองกำลังติดอาวุธฮามาส หลังเหตุโจมตีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1,195 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นพลเรือน จากรายงานของ AFP ที่อ้างอิงตัวเลขจากทางการของอิสราเอล
จากการโจมตีกะทันหันครั้งนี้ กลุ่มฮามาสยังจับคนจำนวน 251 คนเป็นตัวประกัน โดย 116 คนในจำนวนนี้ยังคงอยู่ในฉนวนกาซา ทางการของอิสราเอลระบุ ล่าสุด กองทัพอิสราเอลระบุว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 42 คนจากการโจมตีของอิสราเอลในฉนวนกาซา
การโจมตีตอบโต้ของอิสราเอลได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 37,658 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน กระทรวงสาธารณสุขในฉนวนกาซาระบุ
ภาพจากกูเกิลเอิร์ธสามารถยืนยันได้ว่าวิดีโอดังกล่าวถูกบันทึกไว้ได้บริเวณหน้าสถานกงสุลฝรั่งเศสในเมืองแทนเจียร์
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างวิดีโอยูทูบที่เผยแพร่โดย Tanja News TV (ซ้าย) กับภาพหน้าสถานกงสุลฝรั่งเศสในเมืองแทนเจียร์ ประเทศโมร็อกโก ที่ปรากฏในกูเกิลเอิร์ธ (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบสำคัญ:
ตราของตำรวจที่ปรากฏในโพสต์เท็จนั้นสอดคล้องกับตราของตำรวจในประเทศโมร็อกโก
เมื่อค้นหาด้วยคำสำคัญ พบตราสัญลักษณ์ของตำรวจโมร็อกโกที่เผยแพร่โดย AFP ที่นี่ และ นี่
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างตราตำรวจที่ปรากฏในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพตราของตำรวจโมร็อกโกที่เผยแพร่โดย AFP (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายวงกลมสีแดงเพื่อเน้นลักษณะที่สอดคล้องกัน:
ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับประเด็นความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา