แฟนบอลโรมาเนียไม่ได้ตะโกนเชียร์ 'ปูติน' ระหว่างการแข่งฟุตบอลยูโร 2024 กับยูเครน

ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้แชร์วิดีโอฉบับหนึ่งพร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่า วิดีโอดังกล่าวเผยให้เห็นแฟนบอลทีมชาติโรมาเนียตะโกนร้องเชียร์ชื่อประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ระหว่างการแข่งขันฟุตบอลยูโรระหว่างโรมาเนียกับยูเครน อย่างไรก็ตาม วิดีโอดังกล่าวถูกดัดแปลง โดยนำเสียงของแฟนบอลยูเครนที่ตะโกนชื่อปูตินในนัดการแข่งขันปี 2564 มาตัดต่อ นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวและช่างภาพของ AFP ระบุว่าพวกเขาไม่ได้ยินเสียงตะโกนชื่อของปูตินระหว่างการแข่งขันนัดดังกล่าว ส่วนสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ระบุว่าวิดีโอดังกล่าวเป็นเท็จ 

"**โคตรปั่น! หลังยูฟ่าประกาศสั่งห้ามนำธงชาติรัสเซียเข้าไปในสนามฟุตบอลทำให้แฟนบอลโรมาเนีย ซึ่งเป็นโปรรัสเซียได้ตะโกน "ปูติน! ปูติน! ปูติน!" ระหว่างการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2024..." ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กบัญชีหนึ่งโพสต์วิดีโอและเขียนคำบรรยายในวันที่ 18 มิถุนายน 2567 

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ

วิดีโอและคำกล่าวอ้างในลักษณะเดียวกันยังถูกแชร์บนสื่อสังคมออนไลน์ในหลายภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย  เยอรมัน  เวียดนาม  อาหรับ  พม่า  เกาหลี และ กรีก

วิดีโอดังกล่าวถูกแชร์บนสื่อสังคมออนไลน์หลังการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปหรือ "ยูโร 2024" ระหว่างโรมาเนียกับยูเครนเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 โดยโรมาเนียเอาชนะยูเครนด้วยคะแนน 3-0

แม้ว่าทีมชาติยูเครนจะพ่ายแพ้จากการแข่งขัน แต่ผู้เล่นทีมชาติยูเครนก็คลุมไหล่ด้วยธงประจำชาติลงสนาม เพื่อเฉลิมฉลองการแข่งขันฟุตบอลนัดแรกในทัวร์นาเมนต์ใหญ่นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2565

รัสเซียถูกยูฟ่าห้ามเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลยูโร และถูกแบนจากการแข่งขันระดับนานาชาติทั้งหมด 

วิดีโอที่ถูกตัดต่อนี้ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จในโพสต์ภาษาต่าง ๆ ซึ่งโพสต์ส่วนใหญ่ระบุว่าเป็นวิดีโอจากบัญชีผู้ใช้งาน X ชื่อ @MyLordBebo ซึ่งบัญชีดังกล่าวมักเผยแพร่คำกล่าวอ้างเท็จเป็นภาษาอังกฤษ

AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับสงครามในยูเครน ซึ่งผู้ใช้งานบัญชี X ชื่อ @MyLordBebo เป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลเท็จที่นี่ และ นี่

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จที่เผยแพร่โดยผู้ใช้งาน X ชื่อ @MyLordBebo

สำนักข่าวหลายแห่งได้รายงานว่าวิดีโอดังกล่าวถูกตัดต่อโดยใส่เสียงแฟนบอลเชียร์ปูตินในภาษาต่าง ๆ เช่น ภาษาฮังกาเรียน  ฝรั่งเศส  บัลแกเรีย และ รัสเซีย 

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างว่าวิดีโอแสดงให้เห็นแฟนบอลโรมาเนียตะโกนเชียร์ปูตินนั้นไม่เป็นความจริง

ตะโกนด่าปูติน

แม้ว่าวิดีโอในโพสต์เท็จจะไม่ได้มีความละเอียดสูง แต่จากส่วนที่เป็นเงาของกำแพงสนามฟุตบอลอัลลีอันซ์ (Allianz Arena) ทำให้สันนิษฐานได้ว่าวิดีโอนี้บันทึกในช่วงนาทีที่ 34 ของเกม

เมื่อดูวิดีโอของการแข่งขันอย่างเป็นทางการในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่พบว่ามีเสียงโห่ร้องเชียร์ปูตินตามคำกล่าวอ้างแต่อย่างใด

เสียงเชียร์ปูตินนั้นถูกตัดต่อมาจากคลิปวิดีโอการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2563 ระหว่างทีมยูเครนกับออสเตรีย ซึ่งถูกจัดขึ้นในปี 2564 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ลิงก์บันทึก)

ในการแข่งขันนัดดังกล่าว แฟนบอลชาวยูเครนได้ตะโกนโห่ร้องชื่อ "ปูติน" ตามด้วยถ้อยคำหยาบคาย รวมทั้งมีการตีกลองและร้องเพลงเชียร์ด้วย

ส่วนคำหยาบที่ปรากฏในวิดีโอนั้นถูกตัดออกไป เหลือเพียงเสียงตะโกนปูตินเท่านั้นที่นำมาใช้ในคลิปที่เผยแพร่ในปี 2567

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบการจำลองเสียงจากวิดีโอที่ปรากฏในโพสต์เท็จและเสียงจากคลิปจากการแข่งขันในปี 2567:

โดยกลุ่มแฟนบอลทีมชาติยูเครนตะโกนเชียร์ว่า "Путін -- хуйл" ซึ่งออกเสียงว่า "ปูติน คุยโล" ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "ไอ้เหี้-" หรือ "หัวค–" ซึ่งเป็นคำด่าที่เริ่มใช้ในการชุมนุมของชาวยูเครนเพื่อต่อต้านการผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียในปี 2557 (ลิงก์บันทึก ที่นี่ และ นี่)

ผู้สื่อข่าวและช่างภาพของ AFP ที่รายงานข่าวการแข่งขันดังกล่าวในวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ระบุเช่นกันว่า พวกเขาไม่ได้ยินเสียงแฟนบอลตะโกนเชียร์ชื่อปูติน

ทางยูฟ่ายืนยันกับ AFP ในวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ว่าวิดีโอดังกล่าวเป็นวิดีโอปลอม โดยไม่ได้กล่าวความคิดเห็นเพิ่มเติม

ยูฟ่ามักดำเนินการสอบสวนทางวินัยเมื่อพบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของแฟนบอลในการแข่งขันนัดต่าง ๆ อยู่เสมอ เช่น กรณีแฟนบอลเซอร์เบียชูธงชาติที่ตั้งคำถามว่ารัฐคอซอวอมีเอกราชหรือไม่ ในนัดการแข่งขันระหว่างเซอร์เบียกับอังกฤษเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2567 (ลิงก์บันทึก)

อย่างไรก็ตาม AFP ไม่พบรายงานการสอบสวนพฤติกรรมของแฟนบอลในนัดการแข่งขันระหว่างยูเครนกับโรมาเนียแต่อย่างใด

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา