คลิปวิดีโอเก่าถูกแชร์ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นภาพเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคม
- เผยแพร่ วันที่ 22 สิงหาคม 2024 เวลา 10:31
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP อินโดนีเซีย, AFP ประเทศไทย
- แปลและดัดแปลง โดย Pasika KHERNAMNUOY
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"เกิดเหตุแผ่นดินไหวในจังหวัด มิยาชากิ ของประเทศญี่ปุ่น ประมาณ 16:43 น. ตามเวลาญี่ปุ่น" ผู้ใช้งาน X รายหนึ่งโพสต์ข้อความและวิดีโอเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567
วิดีโอในโพสต์ประกอบไปด้วยคลิป 3 คลิปที่แสดงภาพรถยนต์และบ้านเรือนซึ่งกำลังสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง และสิ่งของที่หล่นจากชั้นวางในสถานที่คล้ายร้านอาหาร
วิดีโอนี้ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดลักษณะเดียวกันในภาษาต่าง ๆ เช่น ภาษาอังกฤษ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ฮินดี และ บังกลาเทศ
โพสต์เหล่านี้ถูกแชร์บนโลกออนไลน์ในวันเดียวกันกับวันที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.1 ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 15 คน (ลิงก์บันทึก)
แผ่นดินไหวบริเวณชายฝั่งทางตอนใต้ของเกาะคิวชูส่งผลให้เสาไฟจราจรและรถยนต์บนท้องถนนสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง ถ้วยชามหล่นจากชั้นวางในห้างสรรพสินค้า แต่ไม่มีรายงานความเสียหายร้ายแรงจากแผ่นดินไหวครั้งนี้
ทางการญี่ปุ่นประกาศเตือนว่าอาจจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ (megaquake) ตามมาหลังจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งแรก แต่ต่อมาได้ยกเลิกประกาศเตือนดังกล่าวในวันที่ 15 สิงหาคม
อย่างไรก็ตาม วิดีโอในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดเป็นภาพจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อต้นปี 2567 ในญี่ปุ่น ไม่ใช่แผ่นดินไหวที่เกาะคิวชู ในเดือนสิงหาคม
แผ่นดินไหวในวันปีใหม่
การค้นหาภาพย้อนหลังโดยใช้คีย์เฟรมของคลิปแรกบนกูเกิล พบวิดีโอเดียวกันถูกเผยแพร่ในรายงานบนเว็บไซต์เอ็นเอชเค (NHK) สถานีโทรทัศน์ของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 (ลิงก์บันทึก)
คลิปแรกของวิดีโอในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดถูกเผยแพร่ในรายงานเกี่ยวกับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.6 เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 ในคาบสมุทรโนโตะ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของเกาะฮอนชูในทะเลญี่ปุ่น
เกิดอาฟเตอร์ช็อกที่ตามมาจากแผ่นดินไหวรอบแรกหลายครั้ง ส่งผลให้เกิดไฟไหม้ ไฟฟ้าดับ และสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของญี่ปุ่น
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และวิดีโอในรายงานข่าวของ NHK (ขวา):
คำบรรยายภาษาญี่ปุ่นในรายงานข่าวระบุว่า คลิปวิดีโอต่าง ๆ นั้นเป็นภาพจากเมืองอานามิซุ ในจังหวัดอิชิกาวะของเกาะฮอนชู
นอกจากนี้ ยังมีข้อความภาษาญี่ปุ่นที่ฝังอยู่ในวิดีโอ โดยระบุว่า "เมืองอานามิซุ อิชิกาวะ วันที่ 1 (มกราคม) เวลาประมาณ 16:00 น. สกู๊ปข่าว บันทึกภาพโดยผู้ชมของเรา"
'อาคารป้องกันแผ่นดินไหว'
การค้นหาภาพย้อนหลังโดยใช้คีย์เฟรมของคลิปที่สองบนกูเกิล พบวิดีโอเดียวกันนี้ถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์หลายเดือนก่อนหน้าเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม
วิดีโอดังกล่าวปรากฏในนาทีที่ 0:08 ของคลิปรวมภาพแผ่นดินไหวที่มีชื่อว่า "อาคารป้องกันแผ่นดินไหวของญี่ปุ่นอันน่าตื่นตาตื่นใจ" ซึ่งถูกเผยแพร่บนยูทูบเมื่อวันที่ 5 มกราคม (ลิงก์บันทึก)
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และวิดีโอบนยูทูบ (ขวา):
นอกจากนี้ วิดีโอดังกล่าวยังปรากฏในโพสต์อินสตาแกรมที่เขียนคำบรรยายเป็นภาษาอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 5 มกราคม (ลิงก์บันทึก)
ข้อความในวิดีโอระบุว่า "ประสิทธิภาพของอาคารญี่ปุ่นทำให้โลกต้องตะลึงเมื่อเกิดแผ่นดินไหว"
"แผ่นดินไหวทำให้พื้นดินสะเทือน บ้านเรือนสั่นไหว แต่อาคารเหล่านี้กลับไม่ถล่ม ดูท่าว่าญี่ปุ่นจะแสดงศักยภาพของตัวเองได้แม้เผชิญหน้ากับภัยพิบัติ" คำบรรยายของโพสต์ดังกล่าวระบุ
คลิปแรกของโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดนั้นปรากฏทั้งในยูทูบและอินสตาแกรม ซึ่งถูกเผยแพร่หลายเดือนก่อนหน้าเหตุแผ่นดินไหวในเดือนสิงหาคม 2567
อ่านรายงานตรวจสอบข้อจริงของ AFP เกี่ยวกับเหตุแผ่นดินไหวในเดือนสิงหาคม 2567 ในญี่ปุ่นได้ที่นี่ และนี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา