ภาพ 'บ้านลอยน้ำ' ในมาเลเซียถูกแชร์อย่างผิด ๆ ว่าเป็นบ้านในจังหวัดน่าน ประเทศไทย

ภาพบ้านลอยน้ำในประเทศมาเลเซียถูกแชร์อย่างแพร่หลายทางเฟซบุ๊กในประเทศไทย โดยผู้ใช้งานหลายคนอ้างว่าเป็นภาพถ่ายของบ้านในจังหวัดน่าน หลังเกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลันที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 22 รายในเดือนสิงหาคม 2567 อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว ภาพชุดนี้ถูกเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2565 โดยชายที่สร้างบ้านดังกล่าวนำถังพลาสติกมาติดตั้งไว้ใต้โครงบ้านไม้ และมีแรงบันดาลใจมาจาก 'เล้าไก่ลอยน้ำ' ที่เขาสร้างขึ้นเพื่อรับมือเหตุน้ำท่วมที่เกิดขึ้นบ่อยในพื้นที่

"สรุปว่าใครบ้า? ตอนลุงแกทำ เพื่อนบ้านหัวเราะคิกคัก ใครเดินผ่านก็หัวเราะเยาะว่าแกบ้า" โพสต์เฟซบุ๊กเขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2567

"ตอนนี้คนพวกนั้น ร้องไห้คึกคัก ใครเห็นบ้านลุงก็สะอื้น เพราะบ้านตัวเองจมน้ำ" คำบรรยายระบุต่อ

โพสต์ดังกล่าวยังปิดท้ายด้วย "#น่าน" ซึ่งเป็นจังหวัดทางภาคเหนือของไทยที่ได้รับผลกระทบจากพายุฝนและน้ำท่วมร้ายแรงในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2567

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระบุว่า สถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 22 ราย (ลิงก์บันทึก)

โพสต์เฟซบุ๊กดังกล่าวแชร์ภาพสองภาพ โดยภาพที่ 1 เผยให้เห็นบ้านไม้ที่ลอยอยู่เหนือน้ำ ส่วนภาพที่ 2 เผยให้เห็นชายคนหนึ่งนั่งอยู่ข้างบ้านไม้ที่ติดตั้งถังพลาสติกไว้ด้านล่าง โพสต์ดังกล่าวได้รับการกดถูกใจมากกว่า 2,600 ครั้ง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

โพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์คำกล่าวอ้างว่าภาพดังกล่าวมาจากจังหวัดน่านยังปรากฏที่นี่  นี่ และ นี่

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว ภาพดังกล่าวเป็นภาพเก่าที่ถูกถ่ายในประเทศมาเลเซีย

บ้านลอยน้ำในมาเลเซีย

เมื่อค้นหาภาพแบบย้อนหลังในกูเกิล พบภาพแรกปรากฏอยู่ในบทความของสำนักข่าวเบอร์มานา (Bernama) ของทางการมาเลเซีย ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 (ลิงก์บันทึก)

บทความดังกล่าวระบุพาดหัวข่าวเป็นภาษามาเลย์ว่า "'บ้านของฉัน แพของฉัน' บ้านลอยน้ำช่วยชีวิตป๊อกเวและครอบครัวจากน้ำท่วม"

รายงานระบุว่า ชายในภาพคือ เอ. บาคาร์ เช  อาหมัด หรือ "ป๊อกเว" อดีตคนขับรถบรรทุกวัย 67 ปี โดยเขาเล่าว่าเขาสร้างบ้านหลังนี้โดยใช้ "ถังพลาสติก 69 ถัง และไม้เชิงชาย 54 แผ่น" เพื่อรับมือกับเหตุน้ำท่วมในหมู่บ้านเทบักบาทู 16  ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของมาเลเซีย

ป๊อกเวเล่าต่อด้วยว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจาก "เล้าไก่ลอยน้ำ" ที่เขาสร้างขึ้นในปี 2562 ซึ่งช่วยให้ไก่ของเขารอดจากน้ำท่วม

ส่วนภาพที่ 2 ปรากฏอยู่ในรายงานของหนังสือพิมพ์ของมาเลเซียชื่อ อูทูซัน มาเลเซีย (Utusan Malaysia) เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งเผยแพร่ภาพป๊อกเวกำลังสร้างบ้านหลังดังกล่าว (ลิงก์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และรายงานข่าวของสื่อประเทศมาเลเซีย (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และรายงานของสำนักข่าวเบอร์มานา (ขวา)

เมื่อค้นหาด้วยคำสำคัญในกูเกิล AFP พบคลิปติ๊กตอกเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2565 ที่เผยแพร่ภาพและวิดีโอเกี่ยวกับการก่อสร้างบ้านหลังดังกล่าว (ลิงก์บันทึก)

ผู้เผยแพร่คลิปได้ยืนยันกับ AFP ว่า บ้านหลังดังกล่าวเป็นบ้านที่พ่อของเขาสร้างขึ้น และตั้งอยู่ในประเทศมาเลเซีย

บ้านหลังนี้ไม่ได้ปรากฏอยู่ในภาพสตรีทวิวของกูเกิล เนื่องจากการบันทึกภาพในพื้นที่ดังกล่าวครั้งล่าสุดคือปี 2558 ซึ่งเป็นเวลาหลายปีก่อนที่บ้านหลังนี้จะถูกสร้างขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภาพสตรีทวิวได้เผยให้เห็นองค์ประกอบสำคัญที่สอดคล้องกับองค์ประกอบในคลิปติ๊กตอก เช่น เสาไฟฟ้าแรงสูงและลักษณะของต้นไม้ที่ปรากฏ ณ นาทีที่ 1:56 ของคลิปติ๊กตอก

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพสตรีทวิวในกูเกิล (ซ้าย) และคลิปติ๊กตอก ณ นาทีที่ 1:56 (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพสตรีทวิวในกูเกิล (ซ้าย) และคลิปติ๊กตอก ณ นาทีที่ 1:56 (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบที่คล้ายกัน

นอกจากนี้ ธงประจำชาติมาเลเซียบนยอดเสาก็ปรากฏอยู่ในคลิปวิดีโอติ๊กตอกด้วย ซึ่งชี้ว่าคลิปดังกล่าวถ่ายในประเทศมาเลเซีย

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา