วิดีโอน้ำท่วมในรัสเซียถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่า 'น้ำท่วมในเชียงรายหลังเขื่อนจีนแตก'
- เผยแพร่ วันที่ 4 กันยายน 2024 เวลา 10:54
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"ด่วนที่สุด.. น้ำเหนือจากเขื่อนแตกที่จีน ทะลักเข้า มบ.จัดสรรที่เชียงรายแล้ว" ผู้ใช้งานติ๊กตอกเขียนคำบรรยายประกอบวิดีโอเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567
โพสต์ดังกล่าวแชร์คลิปวิดีโอความยาว 9 วินาทีที่แสดงภาพให้ของบ้านเรือนหลายหลังถูกน้ำท่วมสูงเกือบถึงหลังคา ซึ่งมียอดผู้ชมมากกว่า 599,000 ครั้งเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567
ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่หลายพื้นที่ในภาคเหนือของประเทศไทยประสบน้ำท่วมหนัก วิดีโอและคำกล่าวอ้างลักษณะเดียวกันนี้ยังถูกแชร์ในโพสต์ภาษาไทยโพสต์อื่น ๆ เช่น ที่นี่ และ นี่
ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ในบังกลาเทศก็แชร์วิดีโอเดียวกันในบริบทที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด เช่น โพสต์ที่นี่ และนี่ ในช่วงที่เกิดน้ำท่วมในภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนนับล้านคน (ลิงก์บันทึก)
อย่างไรก็ตาม วิดีโอดังกล่าวเป็นภาพจากเหตุน้ำท่วมหมู่บ้านแห่งหนึ่งในรัสเซีย ไม่ใช่ในประเทศไทย (ลิงก์บันทึก)
วิดีโอเก่าจากรัสเซีย
จากการค้นหาภาพแบบย้อนหลังทางยานเด็กซ์ (Yandex) พบวิดีโอเดียวกันถูกเผยแพร่ทางยูทูบเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2567 (ลิงก์บันทึก)
ชื่อวิดีโอภาษารัสเซียแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านอิวานอฟกาของเรา บ้านหลายหลังอยู่ในสภาพจมน้ำ"
มีเสียงคนพูดภาษารัสเซียในช่วงแรกของวิดีโอ ซึ่งแปลได้ว่า "หมู่บ้านอิวานอฟกา วันที่ 12 เมษายน พื้นที่อยู่อาศัยในเทือกเขาอูราล"
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ติ๊กตอกที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และวิดีโอยูทูบที่เผยแพร่ในเดือนเมษายน 2567 (ขวา):
สำนักข่าวบีบีซีระบุในรายงานเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2567 ว่า "น้ำท่วมในเมืองโอเรนเบิร์ก ประเทศรัสเซีย โดยระดับน้ำอยู่ที่ 2 เมตรเกินภาวะวิกฤต ทำให้มองเห็นเพียงแค่หลังคาบ้านบางหลังเท่านั้น" (ลิงก์บันทึก)
ภาพในรายงานข่าวเผยให้เห็นบ้านในรัสเซียถูกน้ำท่วมหนัก โดยหลังคาของบ้านเหล่านี้มีลักษณะที่คล้ายหลังคาบ้านที่ปรากฎในวิดีโอที่ถูกแชร์ในโพสต์เท็จอย่างกว้างขวาง
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างวิดีโอที่ถูกแชร์ในประเทศไทย (ซ้าย) และพาดหัวข่าวจากรายงานของสำนักข่าวบีบีซีเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2567 (ขวา):
ก่อนหน้านี้ วิดีโอเดียวกันนี้ถูกแชร์อย่างผิด ๆ ว่าเป็นวิดีโอจากเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายประเทศ เช่น เคนยา ไนจีเรีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งผู้ตรวจสอบข่าวปลอมจากทั่วโลกได้ตรวจสอบและเผยแพร่รายงานไว้ เช่น ที่นี่ นี่ และนี่ (ลิงก์บันทึกที่นี่ นี่ และนี่)
'ไม่มีรายงานเรื่องเขื่อนแตก'
นอกจากนี้ ยังไม่พบรายงานอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับเหตุเขื่อนแตกในจีนเมื่อเดือนสิงหาคม 2567 แต่อย่างใด
เขื่อนแตกในประเทศจีนครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2567 โดยเขื่อนดังกล่าวตั้งอยู่ในมณฑลหูหนานทางตอนกลางของจีน เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมและประชาชนเกือบ 6,000 คนต้องอพยพออกจากพื้นที่ใกล้เคียง อย่างไรก็ตาม AFP ระบุว่าไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต โดยอ้างอิงข้อมูลจากสื่อของทางการของประเทศจีน (ลิงก์บันทึก)
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2567 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมที่ดำเนินการโดยรัฐบาลไทยได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธคำกล่าวอ้างที่ว่าเกิดเขื่อนแตกในจีนจนน้ำทะลักเข้าประเทศไทย (ลิงก์บันทึก)
“สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง ปัจจุบันยังไม่มีการรายงานข่าวเรื่องเขื่อนประเทศจีนแตกแต่อย่างใด”
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา