คลิปวิดีโอลมพัดแรงจนคนล้มเป็นเหตุการณ์เก่าในประเทศจีน และไม่ได้เกี่ยวข้องกับไต้ฝุ่นยางิ

วิดีโอเก่าจำนวน 2 คลิปที่แสดงเหตุการณ์พายุในเมืองทางตอนใต้และตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีนถูกนำมาแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์อีกครั้งในช่วงต้นเดือนกันยายน 2567 พร้อมนำไปเชื่อมโยงกับไต้ฝุ่นยางิที่เป็นพายุที่ทรงพลังที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรอบหลายทศวรรษ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพายุลูกนี้พัดผ่านทางใต้ของจีนจริง แต่วิดีโอดังกล่าวเป็นคลิปเก่าตั้งแต่เดือนเมษายนและเดือนมิถุนายน 2567 และไม่ได้เกี่ยวข้องกับไต้ฝุ่นยางิแต่อย่างใด

"#พายุยางิ น่ากลัวมากมึงเอ้ย คนปลิวเลยอ่ะ" ผู้ใช้งาน X รายหนึ่งเขียนคำบรรยายประกอบวิดีโอที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2567

วิดีโอทั้งสองคลิปแสดงภาพคนถูกลมพัดจนล้มท่ามกลางพายุที่ทรงพลัง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของคลิปแรกในโพสต์ X ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ
Image
ภาพถ่ายหน้าจอของคลิปที่สองในโพสต์ X ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

คลิปเหล่านี้ยังถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างลักษณะเดียวกันในภาษาไทยที่นี่ และภาษาอื่น ๆ เช่น ภาษาเวียดนาม  อังกฤษ  สเปน เกาหลี และ ฝรั่งเศส ที่แชร์คลิป 2 คลิปนี้ในวิดีโอที่รวบรวมหลายคลิปเข้าด้วยกัน

คลิปเหล่านี้ถูกแชร์อย่างแพร่หลายหลังเกิดเหตุการณ์ไต้ฝุ่นยางิถล่มทางตอนใต้ของจีน เวียดนาม และฟิลิปปินส์เมื่อต้นเดือนกันยายน 2567 (ลิงก์บันทึก)

ไต้ฝุ่นยางินับว่าเป็นพายุที่มีกำลังรุนแรงมากที่สุดในภูมิภาคนี้ในรอบหลายทศวรรษ โดยส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 250 ราย และยังทำให้ประชาชนนับหลายล้านต้องประสบภัยน้ำท่วม และสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานและทำให้ไฟดับเป็นวงกว้าง (ลิงก์บันทึก)

ในแต่ละปี ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับฝนในฤดูมรสุมที่ตกลงมาอย่างหนัก แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวนมากยิ่งขึ้น งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในเดือนกรกฎาคมระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ไต้ฝุ่นก่อตัวใกล้ชายฝั่งมากขึ้น พายุมีกำลังลมสูงขึ้น และคงสภาพอยู่บนบกได้นานขึ้น

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในคลิปวิดีโอทั้ง 2 คลิปไม่ได้เกิดจากพายุไต้ฝุ่นยางิ แต่เป็นเหตุการณ์ทางตอนใต้และทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนหลังถูกพายุพัดถล่มในเดือนเมษายนและมิถุนายน 2567

พายุทอร์นาโดในกว่างโจว

ไต้ฝุ่นยางิพัดขึ้นฝั่งเกาะไห่หนานทางตอนใต้ของจีนเมื่อวันที่ 6 กันยายน โดยสื่อของรัฐรายงานว่า เกิดลมพัดด้วยความเร็วมากกว่า 230 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้ต้นไม้หักโค่นและประชาชนราว 460,000 คนบนเกาะต้องอพยพ (ลิงก์บันทึก

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ได้อพยพประชาชนมากกว่า 574,000 คนไปยังพื้นที่ปลอดภัยในมณฑลกวางตุ้งที่อยู่ใกล้เคียง

อย่างไรก็ตาม จากการค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิลโดยใช้คีย์เฟรมจากคลิปแรก พบคลิปเดียวกันถูกแชร์ในแพลตฟอร์มที่เผยแพร่วิดีโอชื่อ Newsflare ซึ่งระบุว่าคลิปดังกล่าวถูกถ่ายไว้เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 (ลิงก์บันทึก)

Newsflare ระบุชื่อคลิปว่า "พายุกวางตุ้ง ลมแรงจนคนบนถนนล้ม"

คำอธิบายระบุต่อว่า "เหตุการณ์อันน่ากลัวนี้ถ่ายโดย @yiyayi เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 ในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน โดยพายุลูกหนึ่งถล่มภูมิภาคนี้อย่างรุนแรง คลิปดังกล่าวแสดงให้เห็นลมแรงและฝนตกหนัก จนทำให้คนเดินถนนแทบจะมองไม่เห็นทางข้างหน้า หรือสัญจรบนถนนได้อย่างปลอดภัย"

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปในโพสต์ X ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และวิดีโอที่เผยแพร่ใน Newsflare (ขวา)

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปในโพสต์ X ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และวิดีโอที่เผยแพร่ใน Newsflare (ขวา)

ภาพถ่ายหน้าจอของคลิปดังกล่าวยังถูกนำไปใช้ประกอบการรายงานของสื่อฮ่องกง HK01 เกี่ยวกับพายุลูกนี้เมื่อวันที่ 28 เมษายนด้วย (ลิงก์บันทึก)

AFP รายงานโดยอ้างอิงสื่อของรัฐว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 รายและผู้บาดเจ็บ 33 รายหลังพายุทอร์นาโดถล่มเมืองกว่างโจว ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลกวางตุ้ง (ลิงก์บันทึก)

ลมแรงในซานตง

จากการค้นหาภาพแบบย้อนหลังโดยใช้คีย์เฟรมของคลิปที่ 2 นั้น พบคลิปเดียวกันปรากฏอยู่ในบัญชีอินสตาแกรมของนิวยอร์กโพสต์ (New York Post) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 (ลิงก์บันทึก)

คำบรรยายของคลิปแปลเป็นภาษาไทยว่า "นี่คือช่วงขณะที่แม่และลูกสาวในประเทศจีนถูกลมแรงพัดจนล้ม"

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ X ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และวิดีโอในบัญชีอินสตาแกรมของของนิวยอร์กโพสต์ (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ X ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และวิดีโอในบัญชีอินสตาแกรมของของนิวยอร์กโพสต์ (ขวา)

คลิปดังกล่าวยังถูกแชร์ทางเพจเฟซบุ๊กของ People's Daily ซึ่งเป็นสื่ออย่างเป็นทางการของจีนเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 โดยโพสต์ดังกล่าวระบุว่าคลิปนี้ถูกถ่ายในมณฑลซานตงเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 (ลิงก์บันทึก)

เหตุการณ์เดียวกันนี้ยังถูกบันทึกไว้ได้ด้วยกล้องวงจรปิด ซึ่งคลิปจากกล้องวงจรปิดถูกเผยแพร่โดย Newsflare ที่ระบุว่าคลิปนี้ถูกถ่ายระหว่างเกิดพายุในเมืองเต๋อโจว มณฑลซานตง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 (ลิงก์บันทึก)

คำอธิบายในเว็บไซต์ Newsflare ระบุว่า "ลมกระโชกแรงพัดแม่และลูกสาวจนล้มและเกือบจะถูกลมพัดไป เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าได้ฝ่าลมพายุที่รุนแรงและพยายามช่วยพวกเขาหลบเข้าที่ปลอดภัย"

อาคารที่มองเห็นอยู่ในฉากหลังของคลิปคือโรงเรียนมัธยมปลายผิงหยวนภาษาจีน-อังกฤษ ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมตั้งอยู่ในเขตผิงหยวน เมืองเต๋อโจว (ลิงก์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปที่ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) กับภาพของสถานที่ที่ปรากฏในคลิปและถูกเผยแพร่ทาง Baidu Maps (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นให้เห็นป้ายโรงเรียนที่สอดคล้องกัน:

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปที่ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) กับภาพของสถานที่ที่ปรากฏในคลิปและถูกเผยแพร่ทาง Baidu Maps (ขวา)

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบวิดีโอและภาพถ่ายที่ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเกี่ยวข้องกับไต้ฝุ่นยางิที่นี่  นี่ และ นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา