วิดีโอพายุถล่มโรงแรมในประเทศจีนไม่ได้มาจากเหตุไต้ฝุ่นยางิถล่มเวียดนาม
- เผยแพร่ วัน 13 กันยายน 2024 เวลา 08:15
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: Tommy WANG, AFP ฮ่องกง, AFP ประเทศไทย
- แปลและดัดแปลง โดย Pasika KHERNAMNUOY
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"พนักงานโรงแรมเวียดนามพยายามปิดประตูโรงแรมไว้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากลมกระโชกแรกจากไต้ฝุ่นยางิ 08/09/2024" ข้อความที่ฝังอยู่ในวิดีโอของโพสต์บนติ๊กตอกเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2567 ระบุ
วิดีโอในโพสต์ดังกล่าวซึ่งมียอดรับชมมากกว่า 206,000 ครั้ง ถูกแชร์ในโลกออนไลน์หลังซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิพัดถล่มฝั่งเกาะไห่หนานทางตอนใต้ของจีนเมื่อวันที่ 6 กันยายน ก่อนเคลื่อนตัวเข้าสู่เวียดนามจนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 250 ราย (ลิงก์บันทึก)
นักอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ไต้ฝุ่นยางิถือเป็นพายุครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปีที่พัดถล่มพื้นที่ทางตอนเหนือของเวียดนาม โดยสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างต่ออาคารที่อยู่อาศัย สะพานและโรงงานหลายแห่ง และยังทำให้เกิดน้ำท่วมสูงและดินถล่มในหลายพื้นที่
วิดีโอเดียวกันนี้ยังถูกแชร์หลายพันครั้งพร้อมกับคำกล่าวอ้างเท็จลักษณะเดียวกันในภาษาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน และโปรตุเกส
ขณะที่โพสต์เท็จภาษาจีนบางโพสต์ระบุว่าวิดีโอนี้มาจากเหตุการณ์ไต้ฝุ่นถล่มเกาะไห่หนานในช่วงเวลาเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในวิดีโอดังกล่าวเกิดก่อนซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิเป็นเวลาหลายสัปดาห์
พายุในเมืองเซินเจิ้น
การค้นหาภาพย้อนหลังโดยใช้คีย์เฟรมของวิดีโอร่วมกับการค้นหาด้วยคำสำคัญต่าง ๆ บนกูเกิล พบวิดีโอเดียวกันนี้เผยแพร่เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 บนเว็บไซต์บิลิบิลิ (Bilibili) แพลตฟอร์มแชร์วิดีโอของจีน (ลิงก์บันทึก)
คำบรรยายวิดีโอระบุว่า "รายงานเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พนักงานโรงแรมจำนวน 9 คนในเมืองเซินเจิ้น ช่วยกันดึงปิดประตูห้องโถงโรงแรมขณะเกิดพายุอย่างกะทันหัน"
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอที่ปรากฏในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอต้นฉบับที่เผยแพร่บน Bilibili (ขวา):
วิดีโอดังกล่าวยังถูกเผยแพร่ในรายงานของสำนักข่าวจีนหลายแห่งในเดือนสิงหาคม 2567 (ลิงก์บันทึกที่นี่ และนี่)
ช่วงนาทีที่ 0:10 ของวิดีโอ แสดงให้เห็นป้ายสีแดงบริเวณด้านบนประตูของห้องโถงโรงแรมพร้อมตัวอักษรภาษาจีนสีเหลืองที่แปลเป็นไทยได้ว่า "สถานีตำรวจหลงเฉิง" ซึ่งเป็นชื่อของย่านพื้นที่อยู่อาศัยในเมืองเซินเจิ้น
นอกจากนี้ ยังปรากฏหมายเลขโทรศัพท์ของกรมรักษาความสงบส่วนท้องถิ่นอีกด้วย (ลิงก์บันทึก)
AFP พบว่าวิดีโอดังกล่าวนั้นถูกบันทึกภายในบริเวณของโรงแรมไค่หลง อินเตอร์เนชั่นแนล (Kailong International Hotel) ในเมืองเซินเจิ้น
ภาพที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ท่องเที่ยว ctrip.com แสดงให้เห็นผังของห้องโถงโรงแรมที่มีลักษณะสอดคล้องกันกับวิดีโอในโพสต์เท็จ (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)
กรมอุตุนิยมวิทยาของเมืองเซินเจิ้นได้ออกประกาศเตือนภัยพายุฝนระดับสีเหลือง ระหว่างวันที่ 5 และ 6 สิงหาคม ในหลายพื้นที่รวมถึงหลงเฉิงซึ่งอยู่ในเขตหลงฮัว (ลิงก์บันทึกที่นี่ และนี่)
สื่อท้องถิ่นในมณฑลกวางตุ้งรายงานว่า พายุรุนแรงพัดถล่มในหลายพื้นที่ของเมืองเซินเจิ้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม (ลิงก์บันทึก)
พื้นที่ทางตอนใต้ของจีนมักถูกพายุไต้ฝุ่นประจำฤดูพัดถล่มอยู่เสมอ โดยพายุจะเริ่มก่อตัวในกระแสน้ำอุ่นของมหาสมุทรทางฝั่งตะวันออกของฟิลิปปินส์ก่อนจะเคลื่อนตัวไปทางฝั่งตะวันตก (ลิงก์บันทึก)
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นเหตุให้พายุโซนร้อนทวีความรุนแรงและคาดเดาได้ยากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดฝนตกหนักและลมกระโชกรุนแรงซึ่งนำไปสู่น้ำท่วมฉับพลันและการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอีกด้วย
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา