นี่คือพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงประกอบอาหารช่วงโควิด-19 ระบาด ไม่ใช่ช่วงน้ำท่วมปี 2567
- เผยแพร่ วัน 19 กันยายน 2024 เวลา 06:48
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"ไม่ต้องออกสื่อ ไม่ต้องมีใครมาต้อนรับ ขับฮอมาเอง ลงถึงแม่สาย ท่านเข้าครัวลงมือทำอาหารพระราชทาน ด้วยทรัพย์ส่วนพระองค์ ท่านเป็นผู้ให้และห่วงใยประชาชนอย่างแท้จริง" โพสต์เฟซบุ๊กเขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567
อำเภอแม่สายเป็นอำเภอที่อยู่เหนือสุดของจังหวัดเชียงรายและประเทศไทย โดยมีชายแดนติดกับประเทศเมียนมา ประชาชนในอำเภอดังกล่าวได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงหลังไต้ฝุ่นยางิพัดผ่านภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 500 ราย (ลิงก์บันทึก)
อุทกภัยดังกล่าวในเชียงรายนับเป็นเหตุน้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดในรอบ 80 ปี
โพสต์ดังกล่าวแชร์ภาพในหลวงและเจ้าคุณพระสินีนาฏฯ กำลังประกอบอาหาร โดยได้รับการกดถูกใจกว่า 62,000 ครั้ง และถูกแชร์กว่า 5,200 ครั้ง
โพสต์เหล่านี้ถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์หลังหนังสือพิมพ์มติชนรายงานเมื่อวันที่ 12 กันยายน ว่าในหลวง ร.10 โปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรีมอบถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภคให้ผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดพิษณุโลก (ลิงก์บันทึก)
ภาพเดียวกันนี้ยังถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างลักษณะเดียวกันในเฟซบุ๊กที่นี่ และ นี่ ติ๊กตอกที่นี่ และ X ที่นี่
อย่างไรก็ตาม ณ วันที่ 19 กันยายน AFP ไม่พบรายงานหรือกำหนดการพระราชกิจที่ระบุว่าในหลวงเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดเชียงรายตามคำกล่าวอ้าง (ลิงก์บันทึก)
ภาพถ่ายในช่วงโควิด-19 ระบาด
การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล พบภาพเดียวกันนี้ถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักพระราชวังเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 (ลิงก์บันทึก)
รายงานดังกล่าวเผยแพร่ชุดภาพของในหลวงและเจ้าคุณพระสินีนาฏฯ โดยระบุว่า พระองค์ได้เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และทรงประกอบอาหารพระราชทานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยโควิด-19
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงประกอบอาหารพระราชทานด้วยพระองค์เอง ... ซึ่งล้วนเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบ 5 หมู่ มีประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีส่วนประกอบของสมุนไพรไทยที่ช่วยบำรุงร่างกายและต่อต้านโรคโควิด 19
เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ให้มีสุขภาพแข็งแรง และสามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเต็มกำลังความสามารถต่อไป"
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และภาพที่ถูกเผยแพร่โดยสำนักพระราชวัง (ขวา):
ภาพถ่ายดังกล่าวยังถูกเผยแพร่ในรายงานของสำนักข่าวไทยหลายแห่งเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2564 เช่น สปริงนิวส์ และผู้จัดการ (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)
AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือของไทยที่นี่ นี่ และ นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา