ภาพ 'ชาวประมงปาปัวจับสัตว์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน' ถูกสร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI)

ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) กล่าวว่าภาพของแอกโซลอเติลขนาดยักษ์นั้นถูกสร้างจากเอไออย่างชัดเจน โดยภาพนี้ถูกแชร์บนสื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลกพร้อมกับคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็นภาพของสิ่งมีชีวิตที่ชาวประมงปาปัวจับได้จากท้องทะเล อย่างไรก็ตาม AFP พบว่าภาพต้นฉบับนั้นถูกเผยแพร่โดยเพจเฟซบุ๊กที่ใช้เอไอในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ รวมถึงยังพบองค์ประกอบภาพที่ผิดปกติอีกหลายจุดด้วย

"ชาวประมงปาปัวจับสัตว์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน #สັตว์ทะเล #ใหม่ #ปลา" โพสต์เฟซบุ๊กระบุคำบรรยายเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2567

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ บันทึกภาพเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567

โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์บนเพจเฟซบุ๊กที่มีผู้ติดตามมากกว่า 268,000 บัญชี โดยรูปภาพทั้ง 3 รูปในโพสต์แสดงให้เห็นสิ่งมีชีวิตลักษณะคล้ายแอกโซลอเติลที่มีขนาดใหญ่เกือบเท่ามนุษย์

รูปเหล่านี้ถูกแชร์อย่างกว้างขวางพร้อมกับคำกล่าวอ้างเท็จลักษณะเดียวกันในภาษาต่าง ๆ รวมถึงภาษาอังกฤษ  อินโดนีเซีย  เวียดนาม และตุรกี 

อย่างไรก็ตาม AFP พบว่าภาพต้นฉบับนั้นถูกแชร์บนสื่อสังคมออนไลน์เป็นครั้งแรกในบัญชีผู้ใช้งานที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคการสร้างภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์

เพจเอไอ

การค้นหาภาพย้อนหลังบนกูเกิลพบว่าภาพเหล่านี้ถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกในโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 โดยมีข้อความกำกับโพสต์ว่า "AI info" ซึ่งเป็นวิธีที่เมตา (Meta) ซึ่งเป็นชื่อบริษัทของเฟซบุ๊ก ใช้ระบุภาพที่สร้างโดยเอไอเพื่อลดความเข้าใจผิดในผู้ใช้งาน (ลิงก์บันทึกที่นี่ และนี่)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ต้นฉบับที่มีการติดป้าย "AI info" กำกับ

รูปทั้งสามถูกแชร์บนเพจของบัญชีผู้ใช้งานชื่อ "Astral Infernum Productions" ซึ่งนิยามตัวเองว่าเป็นผู้ผลิตงานภาพเคลื่อนไหวโดยใช้เอไอเป็นเครื่องมือช่วย และผลิตแฟนอาร์ตโดยใช้การผสมผสานเทคนิคของ "เอไอ สเก็ตช์ (Sketches) และโฟโตชอป (Photoshop)" (ลิงก์บันทึก)

บัญชีดังกล่าวได้พิมพ์ตอบความคิดเห็นที่ตั้งคำถามว่าภาพดังกล่าวจริงหรือไม่ว่า "นี่คือเพจเอไอ" และยังกล่าวเพิ่มเติมว่า "ต่อไปจะใส่ลายน้ำบนผลงาน" หลังจากทราบว่าภาพทั้งสามถูกนำไปแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จ

นอกจากนี้ AFP พบว่ามีการแชร์โพสต์ภาพเคลื่อนไหวของแอกโซลอเติลขนาดยักษ์ที่ตรงกันกับรูปภาพก่อนหน้าในรูปแบบวิดีโอ ทั้งบนเพจเฟซบุ๊กและยูทูบซึ่งใช้ชื่อบัญชีเดียวกันเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2567 (ลิงก์บันทึกที่นี่ และนี่)

องค์ประกอบภาพที่ผิดปกติ

ฉู่ หู หัวหน้าห้องปฏิบัติการกระบวนการเรียนรู้จากข้อมูล (machine learning) และนิติวิทยาศาสตร์สื่อ มหาวิทยาลัยเพอร์ดู ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่าภาพเหล่านี้มีลักษณะหลายจุดที่ชี้ว่าเป็นภาพที่สร้างจากเอไอ (ลิงก์บันทึก)

"ชัดเจนมากว่าภาพพวกนี้เป็นภาพปลอม" เขากล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567

เขาชี้ให้เห็นองค์ประกอบภาพที่ผิดปกติหลายจุดในภาพ อย่างเช่น ลักษณะของนิ้วเท้าและขาของสิ่งมีชีวิตในภาพมีความคล้ายคลึงกับนิ้วมือและแขนของมนุษย์เป็นอย่างมาก จำนวนนิ้วเท้าทั้งสองข้างไม่เท่ากัน พู่เหงือกสองข้างมีขนาดไม่สมมาตรกัน และขาข้างหนึ่งในภาพหายไป

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของรูปภาพต้นฉบับที่ AFP ได้ทำเครื่องหมายเน้นให้เห็นองค์ประกอบภาพที่มีลักษณะผิดปกติ:

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของรูปภาพต้นฉบับที่ AFP ได้ทำเครื่องหมายเน้นให้เห็นองค์ประกอบภาพที่มีลักษณะผิดปกติหลายจุด

แม้ว่าโพสต์ดังกล่าวจะระบุว่าเป็นภาพของสัตว์ทะเลที่ถูกจับโดยชาวประมงจาก "ปาปัว" ซึ่งอาจจะหมายถึงประเทศปาปัวนิวกินี หรือจังหวัดปาปัวของอินโดนีเซีย แต่ถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของแอกโซลอเติลคือในทะเลสาบและคลองทางตอนใต้ของประเทศเม็กซิโกเท่านั้น

แอกโซลอเติล หรือที่คนไทยอาจรู้จักในชื่อ "หมาน้ำ" หรือ "ปลาตีนเม็กซิโก" เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่มีขนาดเมื่อโตเต็มวัยได้ถึง 30-45 เซนติเมตร และปัจจุบันจัดอยู่ในสถานะสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ขั้นวิกฤต (ลิงก์บันทึก)

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเท็จอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับภาพที่สร้างด้วยเอไอ เช่น ภาพปลาหมึกยักษ์ และภาพกุ้งล็อบสเตอร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา