นี่เป็นวิดีโอแฟนบอลชาวเยอรมัน ไม่ใช่ผู้ชุมนุมสนับสนุนระบอบกษัตริย์ในอังกฤษ

  • เผยแพร่ วันที่ 3 ตุลาคม 2024 เวลา 09:38
  • อัพเดตแล้ว วันที่ 3 ตุลาคม 2024 เวลา 10:10
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: Pasika KHERNAMNUOY, AFP ประเทศไทย
วิดีโอของแฟนบอลชาวเยอรมันสวมใส่เสื้อสีเหลืองขณะเดินขบวนโห่ร้องบนถนน ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จบนสื่อสังคมออนไลน์ว่าเป็นภาพของประชาชนชาวอังกฤษที่ออกมาชุมนุมเรียกร้อง "ให้ทุกประเทศมีสถาบันพระมหากษัตริย์" แต่ที่จริงแล้ว วิดีโอนี้เป็นภาพแฟนบอลที่ออกมาเชียร์ทีมโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ก่อนการแข่งขันยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ฤดูกาลที่ผ่านมาในเดือนพฤษภาคม 2567

"ประชาชนของประเทศอังกฤษออกมาเรียกร้องให้ทุกประเทศมีสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะว่านักการเมืองขี้โกงไม่จำเป็นต้องมีนักการเมืองชั่วๆ ไม่เคยช่วยประชาชน" ข้อความบางส่วนที่ฝังอยู่ในวิดีโอของโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567 ระบุ

"ประเทศไทย…มีนักการเมืองชั่ว พวกเราได้เวลาหรือยัง พร้อมเสมอ"

วิดีโอในโพสต์เท็จซึ่งมียอดรับชมมากกว่า 425,000 ครั้ง แสดงภาพของกลุ่มคนจำนวนมากในเสื้อสีเหลืองซึ่งกำลังโบกธงสีเหลือง-ดำ พร้อมกับร้องเพลงขณะที่กำลังเดินขบวนอยู่บนถนน

สีเหลืองถือเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทย

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ บันทึกภาพเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567

วิดีโอดังกล่าวเริ่มปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ในไทยหลังจากที่ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567 (ลิงก์บันทึก)

น.ส. แพทองธาร เป็นสมาชิกคนที่ 3 ในตระกูลชินวัตรที่เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นบุตรสาวคนสุดท้องของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ผู้เป็นศูนย์กลางแห่งความขัดแย้งกับกลุ่มผู้สนับสนุนสถาบันกษัตริย์และระบอบเผด็จการทหารตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมาของการเมืองไทย

โดยในปี 2549 นายทักษิณต้องลี้ภัยออกจากประเทศ หลังถูกกลุ่มชนชั้นนำตั้งข้อหาในคดีทุจริตและทำให้เกิดการขัดแย้งแบ่งฝ่ายของคนในชาติ

คลิปและคำกล่าวอ้างเท็จลักษณะเดียวกันถูกแชร์บนเฟซบุ๊ก และติ๊กตอกที่นี่ และนี่

อย่างไรก็ตาม วิดีโอดังกล่าวเป็นการเดินขบวนของแฟนบอล ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมืองหรือการเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ตามที่กล่าวอ้าง

แฟนฟุตบอล

การค้นหาภาพย้อนหลังและการค้นหาด้วยคำสำคัญต่าง ๆ บนกูเกิล พบวิดีโอเดียวกันเผยแพร่ในโพสต์ติ๊กตอกเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม (ลิงก์บันทึก)

โพสต์ดังกล่าวติดแท็กบัญชีทางการของทีมฟุตบอลเยอรมัน "โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์" และ "แชมเปียนส์ลีก"

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ (ซ้าย) และโพสต์ติ๊กตอกเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ (ซ้าย) และโพสต์ติ๊กตอกเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม (ขวา)

คลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่ในวันถัดมาหลังจากที่ดอร์ทมุนด์เปิดบ้านเอาชนะปารีส แซงต์ แชร์กแมง ในศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก รอบรองชนะเลิศนัดแรก (ลิงก์บันทึก)

เสียงเชียร์ภาษาเยอรมันและฝรั่งเศสของแฟนบอลดังกึกก้องตลอดทั้งคลิป โดยแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "ในที่สุดพวกเราก็ได้เห็นความยิ่งใหญ่ทั้งมวล ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเพื่อเธอ และทุกครั้งช่างคุ้มค่าที่ได้ยืนหยัดเคียงข้างเธอ การเดินทางนี้จะคงอยู่ตลอดไป โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ลุย ลุย!"

ภาพในคลิปวิดีโอดังกล่าวสอดคล้องกับภาพถ่ายจาก Google Street View ในเส้นทางที่แฟนบอลเดินขบวนไปยังสนามซิกนัล อิดูนา พาร์ค ซึ่งเป็นสนามเหย้า
ของสโมสร (ลิงก์บันทึกที่นี่ และนี่)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของร้านค้าและอาคารที่ปรากฏในวิดีโอ (ซ้าย) และภาพจาก Google Street View (ขวา)โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเน้นองค์ประกอบภาพที่สอดคล้องกัน:

Image
การเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของร้านค้าและอาคารที่ปรากฏในวิดีโอ (ซ้าย) และภาพจาก Google Street View (ขวา)

AFP ไม่พบรายงานทางการเกี่ยวกับการชุมนุมของประชาชนชาวอังกฤษที่ออกมาเรียกร้องให้ทุกประเทศมีสถาบันกษัตริย์ ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2567

อ่านรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของ AFP ในประเด็นเกี่ยวกับการชุมนุมของฝ่ายอนุรักษนิยมในไทยได้ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา