นี่คือคลิปรถบรรทุกถูกกระแสน้ำพัดในอินเดีย ไม่ใช่เหตุน้ำท่วมปี 2567 ในไทย

  • เผยแพร่ วัน 1 ตุลาคม 2024 เวลา 10:46
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
คลิปที่แสดงเหตุการณ์รถบรรทุกถูกกระแสน้ำพัดถูกแชร์อย่างกว้างขวางและมียอดชมหลายหมื่นครั้ง โดยผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยอ้างว่า คลิปดังกล่าวแสดงเหตุการณ์รถขนเสบียงในจังหวัดเชียงรายถูกกระแสน้ำพัดหายไปในเดือนกันยายน 2567 อย่างไรก็ตาม คลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ในรายงานข่าวเกี่ยวกับเหตุน้ำท่วมฉับพลันในเมืองหริทวารทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย และไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยแต่อย่างใด

"รถขนเสบียงไปเชียงราย สู้กระแสน้ำไม่ไหว จมหายไปทั้งคัน จนท. ช่วยคนขับรถไว้ได้" คำบรรยายในโพสต์ X เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2567 ระบุ

โพสต์ดังกล่าวแชร์วิดีโอความยาว 21 วินาทีซึ่งแสดงภาพรถบรรทุกถูกกระแสน้ำรุนแรงพัด

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ X ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

วิดีโอเดียวกันนี้ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างลักษณะเดียวกันทางติ๊กตอกที่นี่ และนี่ และเฟซบุ๊กที่นี่

โพสต์เหล่านี้ถูกเผยแพร่หลังเหตุน้ำท่วมฉับพลันที่ภาคเหนือของประเทศไทยซึ่งเป็นผลกระทบของพายุไต้ฝุ่นยางิที่พัดถล่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อต้นเดือนกันยายน 2567 และทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 700 ราย (ลิงก์บันทึก)

สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเชียงรายนับเป็นอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 80 ปี (ลิงก์บันทึก)

อย่างไรก็ตาม วิดีโอดังกล่าวบันทึกเหตุการณ์ในเมืองทางตอนเหนือของอินเดียในเดือนกรกฎาคม 2567 และไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย

น้ำท่วมในอินเดีย

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิลโดยใช้คีย์เฟรมของวิดีโอ พบรายงานของหนังสือพิมพ์ภาษาฮินดีชื่ออามาร์ อูจาลา (Amar Ujala) เผยแพร่บนเว็บไซต์เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 (ลิงก์บันทึก)

รายงานภาษาฮินดีระบุว่า รถบรรทุกถูกกระแสน้ำพัดออกไปหลังฝนตกในเมืองหริทวารซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย โดยรายงานระบุว่าขณะเกิดเหตุไม่มีผู้โดยสารอยู่บนรถ

อามาร์ อูจาลาได้เผยแพร่คลิปเหตุการณ์นี้บนบัญชี X ก่อนจะนำคลิปมาใช้ในรายงานดังกล่าวด้วย  (ลิงก์บันทึก)

ในคลิปดังกล่าวจะเห็นคนกลุ่มหนึ่งยืนดูเหตุการณ์อยู่ทางด้านขวาของวิดีโอ นอกจากนี้ ยังได้ยินเสียงคนตะโกนชื่อพระศิวะซึ่งเป็นมหาเทพของศาสนาฮินดูในช่วงวินาทีที่ 0:10  

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และคลิปที่ถูกเผยแพร่ในบัญชี X ของอามาร์ อูจาลา (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และคลิปที่ถูกเผยแพร่ในบัญชี X ของอามาร์ อูจาลา (ขวา)

เมื่อขยายภาพในคลิปดังกล่าว AFP ยังพบสัญลักษณ์ที่เขียนว่า "All India Permit" ปรากฏที่กระจกด้านหน้าของรถ ซึ่งเป็นใบอนุญาตขับขี่สำหรับพาหนะในอินเดียที่ขนส่งสินค้าเพื่อการพาณิชย์

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าของคลิป โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นข้อความ "All India Permit" บริเวณกระจกหน้าของรถ

Image
ภาพถ่ายหน้าของคลิป โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นคำว่า "All India Permit" ที่กระจกด้านหน้าของรถ

สำนักข่าวท้องถิ่นอื่น ๆ อย่างนัพพารัตไทมส์และอินเดียทีวี นำคลิปเดียวกันไปเผยแพร่ในรายงานเหตุน้ำท่วมฉับพลันในเมืองหริทวารเช่นเดียวกัน (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

เมืองหริทวารเป็นสถานที่แสวงบุญซึ่งตั้งอยู่ในรัฐอุตตราขัณฑ์ทางตอนเหนือของอินเดีย โดยสื่อท้องถิ่นรายงานว่าเมืองหริทวารประสบน้ำท่วมครั้งใหญ่หลังฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องหลายวันในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2567 (ลิงก์บันทึก)

นอกจากนี้ AFP รายงานว่าฝนในช่วงมรสุมทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 13 รายทั่วรัฐอุตตราขัณฑ์ (ลิงก์บันทึก)

AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับเหตุการณ์น้ำท่วมของประเทศไทยในเดือนกันยายน 2567 ที่ นี่  นี่ และ นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา