วิดีโอของนักล่าพายุจากปี 2557 และ 2566 ถูกแชร์ในโพสต์เท็จว่าเป็นพายุเฮอร์ริเคนมิลตัน
- เผยแพร่ วัน 18 ตุลาคม 2024 เวลา 06:11
- อัพเดตแล้ว วัน 18 ตุลาคม 2024 เวลา 06:52
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"เฮอริเคน มิลตัน ขึ้นฝั่งเข้าถล่มฟลอริด้า สหรัฐฯ น่ากลัวมาก" โพสต์ X เขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567
โพสต์ดังกล่าวแชร์วิดีโอที่รวบรวมคลิปจำนวน 3 คลิปที่แสดงให้เห็นพายุทอร์นาโด โดยโพสต์ดังกล่าวมีผู้ชมแล้วกว่า 180,000 ครั้ง ถูกรีโพสต์กว่า 2,000 ครั้ง และได้รับการกดถูกใจมากกว่า 1,700 ครั้ง
โพสต์ติ๊กตอกที่แชร์คลิปเดียวกันนี้พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จถูกแชร์มากกว่า 2,700 ครั้ง
นอกจากนี้คลิปดังกล่าวยังนำไปเผยแพร่ประกอบการรายการข่าวของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งในประเทศไทยและทางสื่อสังคมออนไลน์ที่นี่ และ นี่ โดยมียอดผู้ชมรวมกันมากกว่าหนึ่งล้านครั้ง
โพสต์เหล่านี้ปรากฏขึ้นหลังจากพายุเฮอร์ริเคนมิลตันพัดขึ้นฝั่งในฟลอริดาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม โดยเป็นพายุระดับ 3 ที่ทรงพลัง ทำให้เกิดพายุทอร์นาโดจำนวนมาก และทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 16 รายและหลายครัวเรือนไม่มีไฟฟ้าใช้ (ลิงก์บันทึก)
อย่างไรก็ตาม คลิปดังกล่าวไม่ได้แสดงเหตุการณ์พายุเฮอร์ริเคนมิลตันในเดือนตุลาคม 2567
วิดีโอต้นฉบับถ่ายโดย ริคกี้ ฟอร์บส์ (Ricky Forbes) นักล่าพายุมืออาชีพระหว่างเกิดพายุทอร์นาโดในปี 2557 และ 2566 (ลิงก์บันทึก)
พายุทอร์นาโดคู่ในรัฐเนบราสกา ปี 2557
คลิปแรกที่แสดงพายุทอร์นาโดคู่ขนาดใหญ่ ภาพตรงกับคลิปที่ถูกเผยแพร่ทางเพจเฟซบุ๊กของฟอร์บส์ (ลิงก์บันทึก)
คำบรรยายโพสต์ระบุว่า เป็นคลิปที่ฟอร์บส์ถ่ายขณะเกิดพายุทอร์นาโดคู่ระดับ EF4 ซึ่งพัดผ่านเมืองพิลเจอร์ รัฐเนบราสกา เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2557 (ลิงก์บันทึก)
มาตราเอนแฮนซ์ฟูจิตะ (Enhanced Fujita Scale) เป็นมาตรวัดความรุนแรงของพายุทอร์นาโด ที่ประเมินจากทั้งความเร็วลมและความเสียหาย โดยมาตราวัดนี้กำหนดให้พายุ EF4 มีความรุนแรงเป็นอันดับสอง โดยมีความเร็วลมอยู่ที่ 166-200 ไมล์ต่อชั่วโมง (267-322 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ X ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และโพสต์เฟซบุ๊กของฟอร์บส์ (ขวา):
คลิปที่ 2 ที่เป็นภาพระยะประชิดของพายุทอร์นาโด ก็เป็นอีกคลิปที่ถ่ายพายุทอร์นาโดลูกเดียวกันในรัฐเนบราสกาเมื่อปี 2557
ฟอร์บส์ได้เผยแพร่คลิปดังกล่าวในเพจเฟซบุ๊กของเขา พร้อมเขียนคำบรรยายว่า "นี่คือเหตุผลที่ทำให้ผมกลัวพายุทอร์นาโด เราเผชิญหน้ากับพายุทอร์นาโดพิลเจอร์ ระดับ EF4 ที่รัฐเนบราสกา พายุทอร์นาโดลูกนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2557" (ลิงก์บันทึก)
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ X ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และโพสต์เฟซบุ๊กของฟอร์บส์ (ขวา):
พายุซูเปอร์เซลล์ ในเมืองอัลเบอร์ตา ปี 2566
ส่วนคลิปที่ 3 ที่ปรากฏในวิดีโอรวมเหตุการณ์นั้น เป็นคลิปที่ปรากฏในโพสต์เฟซบุ๊กของฟอร์บส์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 และแสดงให้เห็นพายุซูเปอร์เซลล์อันทรงพลัง
ฟอร์บส์เผยแพร่คลิปดังกล่าวในเพจเฟซบุ๊กของเขาเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2566 โดยเขียนคำบรรยายว่า "พายุทอร์นาโดระดับ EF4 ที่น่ากลัวมาก ถ่ายได้เมื่อไม่นานมานี้ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของดิดส์เบอรี เมืองอัลเบอร์ตา" (ลิงก์บันทึก)
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ X ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และโพสต์เฟซบุ๊กของฟอร์บส์ (ขวา):
ฟอร์บส์ยืนยันกับ AFP ว่าเขาถ่ายคลิปดังกล่าวในปี 2557 และ 2566 ซึ่งสอดคล้องกับการตรวจสอบของ AFP
"ถูกต้องครับ ผมเป็นคนถ่ายคลิปเหล่านี้เอง ส่วนปีที่คุณกล่าวมาก็ถูกต้องเช่นกัน” ฟอร์บส์เขียนตอบ AFP ทางอีเมลเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 “คลิปเหล่านี้ถูกนำไปแชร์ต่อพร้อมคำอธิบายที่ผิด”
ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับพายุเฮอร์ริเคนมิลตัน ซึ่งสามารถอ่านรายงานได้ที่นี่ นี่ และ นี่
แก้ไขตัวสะกดในภาพแรกของรายงานฉบับนี้18 ตุลาคม 2567 แก้ไขตัวสะกดในภาพแรกของรายงานฉบับนี้
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา