ภาพขบวนรถถังเมื่อต้นปี 2567 ถูกแชร์ในโพสต์เท็จว่าเป็นเหตุการณ์หลังเกาหลีใต้ประกาศกฎอัยการศึก
- เผยแพร่ วันที่ 11 ธันวาคม 2024 เวลา 10:44
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"ด่วน!!! เกาหลีใต้เกิดรัฐประหาร! รถถังเคลื่อนเข้าสู่กรุงโซล หลังกฎอัยการศึกฉุกเฉินมีผลบังคับใช้" ข้อความที่ฝังอยู่ในวิดีโอติ๊กตอกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ระบุ
วิดีโอในโพสต์ดังกล่าวแสดงภาพถ่ายของขบวนรถถังเกือบสิบคันบนท้องถนนในช่วงกลางคืน
ภาพนี้ยังถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จลักษณะเดียวกันในโพสต์ภาษาอื่น ๆ เช่น สเปน อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน จีน มาเลย์ พม่า และเกาหลี หลังจากปธน.ยุน ประกาศกฎอัยการศึกในคืนวันที่ 3 ธันวาคม 2567 จนทำให้เกิดความโกลาหลทางการเมืองในเกาหลีใต้
ปธน.ยุนส่งเฮลิคอปเตอร์และกองกำลังทหารพิเศษไปยังรัฐสภา แต่สมาชิกสภานิติบัญญัติตัดสินใจเผชิญหน้ากับทหารและสามารถลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ปธน.ยุน ยกเลิกกฎอัยการศึกได้
ยุน ซอก-ยอลรอดจากการลงมติถอดถอนอย่างหวุดหวิด แม้ว่าประชาชนจำนวนมากจะออกมาชุมนุมท่ามกลางอุณหภูมิที่หนาวเหน็บเพื่อเรียกร้องให้เขาลาออกก็ตาม (ลิงก์บันทึก)
ขณะนี้ ยุน ซอก-ยอลยังคงดำรงประธานาธิบดีของเกาหลีใต้และกำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการสืบสวนคดีกบฏด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ภาพที่ถูกแชร์อย่างแพร่หลายนี้เป็นภาพจากเดือนมกราคม 2567 หลายเดือนก่อนการประกาศกฎอัยการศึกของยุน ซอก-ยอล
การซ้อมรบ
การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิลพบภาพเดียวกันปรากฏอยู่ในรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์โซล ชินมุน (Seoul Shinmun) ของเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2567 (ลิงก์บันทึก)
รายงานดังกล่าวระบุว่า ภาพรถถังนี้มากจากการซ้อมรบทางทหารในช่วงเช้ามืดของวันที่ 25 มกราคม 2567 โดยมีการใช้รถหุ้มเกราะ 12 คันและทหารราว 40 นายในการฝึกซ้อม
ขบวนรถถังวิ่งผ่านสะพานดงจักเข้าสู่ย่านธุรกิจของกรุงโซลตามเส้นทางในแผนการฝึกซ้อม
รายงานดังกล่าวยังแชร์ลิงก์วิดีโอยูทูบที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 บนช่องเคเอฟเอ็น นิวส์ (KFN News) ซึ่งเป็นหน่วยงานข่าวภายใต้กระทรวงกลาโหมของเกาหลีใต้ (ลิงก์บันทึก)
คำอธิบายใต้วิดีโอระบุว่า รถถังเหล่านี้อยู่ระหว่างการฝึกซ้อมทางเพื่อ "แสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการปกป้องเมืองหลวง"
ในช่วงนาทีที่ 0.59 ของวิดีโอจะปรากฏภาพขบวนรถถังซึ่งสอดคล้องกับภาพที่ถูกแชร์ในโพสต์เท็จ
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ติ๊กตอกที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และภาพเดียวกันที่ปรากฏในวิดีโอยูทูบ (ขวา):
AFP ตรวจสอบคำกล่าวอ้างต่าง ๆ เกี่ยวกับการประกาศกฎอัยการศึกของเกาหลีใต้ที่นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา