ภาพหลุมหลบภัยที่สร้างจากเอไอถูกแชร์ในโพสต์เท็จว่าซีรีส์ "สควิดเกม" สร้างจากเหตุการณ์จริง
- เผยแพร่ วันที่ 16 มกราคม 2025 เวลา 06:25
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
- แปลและดัดแปลง โดย Pasika KHERNAMNUOY
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"Squid GAME สร้างจากเรื่องจริง" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรายหนึ่งซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่าสามล้านคนโพสต์รูปภาพและข้อความเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568
"Squid Game ได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในปี 1986 มันเกิดขึ้นในบังเกอร์ในดินแดนของคนในเกาหลีใต้ ที่ซึ่งผู้คนถูกจับเป็นตัวประกันและต้องเล่นเกมหลายเกมเพื่อให้อยู่รอด"
โพสต์ดังกล่าวแสดงรูปภาพโถงทางเดินและด้านในของอาคารสีเขียว ฟ้า และชมพู และยังมีรูปของกลุ่มผู้ชายสวมใส่ชุดวอร์มสีน้ำเงินนั่งเรียงแถวในหอพัก
หลังจากที่เน็ตฟลิกซ์เปิดตัวสควิดเกม ซีซั่น 2 ภาพชุดเดียวกันถูกแชร์ในโพสต์เท็จหลายภาษาทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นไทย พม่า จีน อังกฤษ อินโดนีเซีย มาเลย์ สเปน และตุรกี
สควิดเกมนำเสนอเรื่องราวของผู้คนที่สิ้นหวังในสังคมดิสโทเปียของเกาหลีใต้ พวกเขาจึงตัดสินใจเข้าร่วมการแข่งขันเล่นเกมเสี่ยงตายเพื่อแลกกับเงินรางวัลมหาศาล (ลิงก์บันทึก)
อย่างไรก็ตาม ฮวัง ดง-ฮยอก ผู้กำกับซีรีส์ ยืนยันว่าแรงบันดาลใจของสควิดเกมมีที่มาจากการ์ตูนของประเทศญี่ปุ่น
เขาให้สัมภาษณ์กับนิตยสารวาไรตี้เมื่อปี 2564 ว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนญี่ปุ่นอย่าง "แบตเทิลรอยัล" และ "ไลอาร์เกม" (ลิงก์บันทึก)
นอกจากนี้เขาให้สัมภาษณ์กับ AFP ว่า "กีฮุน" ตัวละครหลักของเรื่อง ได้รับอิทธิพลมาจาก "การประท้วงซันยอง" ในเกาหลีใต้
ในปี 2552 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ซันยอง มอเตอร์ ประกาศเลิกจ้างพนักงานราวร้อยละ 40 หลังประสบปัญหาด้านการเงิน จนนำไปสู่การปิดโรงงานประท้วงเป็นระยะเวลา 77 วัน ที่จบลงด้วยการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจควบคุมฝูงชน
สมาชิกกลุ่มสหภาพแรงงานหลายรายถูกทุบตีอย่างหนักขณะที่บางส่วนถูกจำคุก
"ผมอยากถ่ายทอดให้เห็นว่าคนชนชั้นกลางธรรมดา ๆ ในโลกก็สามารถร่วงลงไปอยู่ชั้นล่างสุดของห่วงโซ่เศรษฐกิจได้ในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน" ฮวัง ดง-ฮยอกกล่าวกับ AFP ในปี 2564
สถานกักกัน
การค้นหาภาพย้อนหลังบนกูเกิลพบภาพอาคารและโถงทางเดินเผยแพร่อยู่ในบัญชีอินสตาแกรมชื่อ"cityhermitai" เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2567 (ลิงก์บันทึก)
บัญชีดังกล่าวเป็นของ เอฟเฟ่ เลแวนต์ นักเขียนและศิลปินชาวตุรกี ซึ่งเขามักจะโพสต์รูปที่สร้างจากเอไอที่มีโทนสีลักษณะเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ (ลิงก์บันทึก)
เขาบอกกับ AFP เมื่อวันที่ 7 มกราคมว่า รูปเหล่าถูกสร้างขึ้นด้วยมิดเจอร์นีย์ซึ่งเป็นเครื่องมือสร้างภาพจากเอไอ
ส่วนภาพถ่ายของผู้ชายที่นั่งเรียงกันในชุดวอร์มถูกนำมาจากสารคดีเกี่ยวกับ "บ้านพี่น้อง" (Brothers Home) สถานกักกันที่ตั้งอยู่ในเมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ในช่วงปี 2503 ถึง 2535 ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความโหดร้ายทารุณและการละเมิดสิทธิมนุษยชน (ลิงก์บันทึก)
การค้นหาด้วยคำสำคัญบนกูเกิลพบว่าภาพดังกล่าวปรากฏในช่วงนาทีที่ 18:55 ของวิดีโอสารคดีเกี่ยวกับบ้านพี่น้องที่เผยแพร่บนช่องยูทูบของหนังสือพิมพ์ปูซานอิลโบ (ลิงก์บันทึก)
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างรูปที่ปรากฏในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอสารคดี (ขวา):
อ่านรายงานวิธีการสังเกตรูปภาพที่สร้างจากปัญญาประดิษฐ์ได้ที่นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา