ภาพอุบัติเหตุการก่อสร้างถูกแชร์อย่างผิด ๆ ว่าเป็นภาพตึกถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวไต้หวันในเดือนมกราคม 2568

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 แผ่นดินไหวขนาด 6.0 ในไต้หวันส่งผลให้อาคารพังถล่มและประชาชนบางส่วนได้รับบาดเจ็บ หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยและสำนักข่าวภาษาจีนบางแห่งได้นำภาพอาคารถล่มไปเผยแพร่อย่างผิด ๆ ว่าเป็นภาพจากเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ภาพนี้ถูกเผยแพร่ในรายงานเกี่ยวกับอาคารที่พังถล่มลงมาหลังการขุดค้นที่ชั้นใต้ดินราวสองสัปดาห์ก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหวรอบล่าสุด

"เมื่อคืนมีแผ่นดินไหวที่ไต้หวันเขตภาคไต้ขอให้ทุกคนปลอดภัยนะครับ#คนไทยในไต้หวัน#แผ่นดินไหว" โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 เขียนคำบรรยาย 

ภาพซากอาคารดังกล่าวถูกแชร์ในกลุ่มเฟซบุ๊กที่มีสมาชิกมากกว่า 120,000 คน

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

ภาพเดียวกันนี้ยังถูกนำไปแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างลักษณะเดียวกันในโพสต์ภาษาไทยอื่น ๆ เช่น ที่นี่ และ นี่

นอกจากนี้ สื่อฮ่องกงชื่อ am730 ยังเผยแพร่ภาพดังกล่าวในรายงานเกี่ยวกับเหตุแผ่นดินไหวที่ไต้หวันอีกด้วย 

สำนักงานอุตุนิยมวิทยากลางของไต้หวันระบุว่า จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ในเขตเจียอี้ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะ แรงสั่นสะเทือนก่อให้เกิดดินถล่มหลายจุดและมีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด 27 ราย (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

อย่างไรก็ตาม ภาพดังกล่าวไม่เกี่ยวกับเหตุแผ่นดินไหวไต้หวันเมื่อวันที่ 21 มกราคม

การค้นหาภาพย้อนหลังและการค้นหาด้วยคำสำคัญทางกูเกิล พบภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ในรายงานของสำนักข่าวกลางของไต้หวัน หรือ CNA ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2568 (ลิงก์บันทึก)

ภาพดังกล่าวให้เครดิตว่าถ่ายโดยกรมโยธาธิการเมืองนิวไทเป

รายงานของ CNA ระบุว่า การขุดชั้นใต้ดินที่ถนนหลิวซ่างในเมืองนิวไทเป ทำให้อาคารสองหลังข้าง ๆ ทรุดและเอียง ก่อนที่อาคารหลังหนึ่งจะพังถล่มลงมา

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และภาพที่เผยแพร่ในรายงานของ CNA (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และภาพที่เผยแพร่ในรายงานของสำนักข่าวกลางของไต้หวัน (ขวา)

ถนนหลิวซ่างอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวในเมืองเจียอี้ออกไปราว 220 กิโลเมตร

ภาพถ่ายจากแผนที่กูเกิลแสดงอาคารที่มีลักษณะตรงกับภาพอาคารที่ได้รับความเสียหายในรายงานของ CNA (ลิงก์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของภาพที่เผยแพร่ในรายงาน CNA (ซ้าย) และภาพระดับถนนในแผนที่กูเกิล (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของภาพที่เผยแพร่ในรายงานสำนักข่าวกลางของไต้หวัน (ซ้าย) และภาพระดับถนนในแผนที่กูเกิล (ขวา)

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา